xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขานรับนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ต่อยอดสินค้าอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่นิยมในตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขานรับนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ต่อยอดสินค้าอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่นิยมในตลาด ขอให้เน้นคุณภาพสร้างชื่อเสียงเพื่อความเชื่อมั่นต่อไป 


วันนี้ (17 ธ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ซึ่งส่วนหนึ่งของการดำเนินตามนโยบายนี้ คือ เห็นโอกาสและช่องทางขยายตลาดสินค้าฮาลาล (Halal) เนื่องจากประชากรในกลุ่มประเทศมุสลิม มีแนวโน้มเติบโต และมีกำลังซื้อมากขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติประชากรโลกของ Pew Research Center (Washington, DC) คาดว่า กลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามจะเพิ่มจำนวนเร็วที่สุดในโลก (https://www.pewresearch.org/religion/2017/04/05/the-changing-global-religious-landscape/pf_17-04-05_projectionsupdate_change310px/) ดังนั้น ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ได้รับตรารับรองฮาลาล ตามหลักศาสนาอิสลาม จึงมีความต้องการมากขึ้นไปด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่มุสลิมภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศ อาหารฮาลาลของไทย มีจุดแข็งด้านคุณภาพวัตถุดิบ อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีความเข้มแข็ง มีชื่อเสียงในตลาดโลก ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และรสชาติ โดยไทยได้ส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ไปยังกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation-OIC) จำนวน 57 ประเทศ ซึ่งทำให้ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาล รวม 4,188.37 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสัดส่วน 12.13% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 4.12% ส่วนปี 2565 ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าการส่งออก 4,681.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 64.65%

โดยประเภทสินค้าอาหารฮาลาลที่ประเทศไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ OIC ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ 1. ธัญพืช 2. ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำ 3. น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล 4. ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือนม ผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกพาย และ 5. ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ด ที่บริโภคได้ โดยในปี 2564 ประเทศไทย ได้ส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังประเทศกลุ่ม OIC โดยมีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 1,193.57 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. อินโดนีเซีย 885.77 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 228.64 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. อียิปต์ 225.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. เยเมน 165.00 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากตลาดในกลุ่มประเทศ OIC ประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ได้แก่ อินเดีย จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยเอง โดยตลาดกลุ่มนี้ก็เป็นตลาดเป้าหมายส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลที่สำคัญ เนื่องจากล้วนมีกลุ่มชาวมุสลิมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยจำนวนมาก และอาหารไทยก็ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนั้น สินค้าอาหารฮาลาลที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ก็เป็นตลาดที่สำคัญ สำหรับชาวไทยมุสลิม และนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่นเดียวกัน

“นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถทำให้ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของไทย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีปัจจัยสำคัญจากคุณภาพสินค้า ความหลากหลายของสินค้า ทำให้เครื่องหมายฮาลาล ของไทยเป็นที่ยอมรับ ขอให้คงไว้ซึ่งชื่อเสียงเหล่านี้ เพื่อจะได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาด ผลักดันการส่งออกอาหารฮาลาลได้ ทั้งในประเทศ แก่นักท่องเที่ยว และต่างประเทศ รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น