หวั่นกฎหมายใหม่ที่รัฐสภาอินโดนีเซียเพิ่งผ่านความเห็นชอบ อาจทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนักจากผลกระทบของโควิด เนื่องจากจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหันหลังให้แดนอิเหนาอีกครั้ง เพราะบทบัญญัติห้ามมีเซ็กส์ก่อนแต่งซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี
ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางฉบับนี้ รวมทั้งถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนโจมตีว่าเป็น “หายนะ” ยังมีมาตราซึ่งห้ามชาย-หญิงที่ไม่ได้แต่งงานกันอยู่ร่วมกัน อีกทั้งจำกัดเสรีภาพด้านการเมืองและศาสนา โดยสัปดาห์นี้มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ในจาการ์ตา และคาดว่า จะมีการร้องเรียนต่อศาลเพื่อไม่ให้มีการบังคับใช้
กฎหมายใหม่ฉบับนี้ กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 3 ปี และบังคับใช้ทั้งกับชาวอินโดนีเซียและทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแดนอิเหนา รวมถึงนักเดินทาง
ข่าวนี้มีการรายงานอย่างกว้างขวางในออสเตรเลีย โดยหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกว่า กฎหมายห้ามมีเซ็กส์ในบาหลี
ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า ไม่มีแนวโน้มที่กฎหมายใหม่ของอินโดนีเซียจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว เนื่องจากการดำเนินคดีจำเป็นต้องได้รับการร้องเรียนจากบุตร พ่อแม่ หรือคู่ครอง ของผู้ที่กระทำความผิดเท่านั้น
ทว่า นักวิจัยของฮิวแมน ไรต์ วอตช์แย้งว่า อาจมีบางสถานการณ์ที่กฎหมายฉบับนี้สร้างปัญหาให้นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียอย่างมาก ก่อนโควิดระบาดชาวออสซี่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของแดนอิเหนา หลายพันคนบินไปอาบแดดในบาหลีทุกเดือน ไม่รวมหนุ่มสาวออสซี่ที่เดินทางไปบาหลีเพื่อฉลองเรียนจบ และอีกหลายคนที่ไปยังเกาะดังกล่าวปีละ 2-3 ครั้งเนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่ไม่ไกลและมีค่าใช้จ่ายถูก
แต่หลังจากกฎหมายใหม่ของอินโดนีเซียบังคับใช้ หลายคนสงสัยว่า นักท่องเที่ยวิวซี่ยังจะยังเลือกบาหลีอีกหรือไม่
บนหน้าเฟซบุ๊กสำหรับการท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย บรรดายูสเซอร์ถกเถียงหาเหตุผลให้กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และนัยสำหรับนักเดินทางต่างชาติ
บางคนบอกว่า จะต้องพกทะเบียนสมรสไปด้วย ส่วนคนที่ยังไม่แต่งงานบอกว่า จะเปลี่ยนไปเที่ยวประเทศอื่นถ้ากฎหมายดังกล่าวทำให้ตนไม่สามารถพักร่วมกับแฟนได้
ประมวลกฎหมายอาญาใหม่กำหนดว่า หากมีการร้องเรียนจากบุตร พ่อแม่ หรือคู่สมรส ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้แต่งงานอาจถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี และคนที่อยู่ก่อนแต่งอาจถูกจำคุกสูงสุด 6 เดือน
ด้านโฆษกกระทรวงยุติธรรมอินโดนีเซียพยายามคลายความกังวลโดยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว WAToday.com ของออสเตรเลียว่า นักท่องเที่ยวออสเตรเลียไม่ควรกังวล เพราะมีแนวโน้มมากที่สุดว่า ผู้ที่จะร้องเรียนต่อตำรวจคือคนอินโดนีเซีย
ทว่า แอนเดรียส์ ฮาร์โซโน นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมน ไรต์ วอตช์แย้งว่า อาจมีบางสถานการณ์ที่กฎหมายฉบับนี้สร้างปัญหาให้นักเดินทาง เช่น นักท่องเที่ยวออสเตรเลียมีแฟนเป็นคนอินโดนีเซีย และพ่อแม่พี่น้องของแฟนร้องเรียนต่อตำรวจ เป็นต้น
ฮาร์โซโนยังบอกว่า การที่ตำรวจจะสอบสวนต่อเมื่อมีสมาชิกครอบครัวมาร้องเรียนเท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้มีการเลือกบังคับใช้กฎหมายกับบางเป้าหมายเท่านั้น เช่น โรงแรม นักท่องเที่ยวต่างชาติ และอาจเปิดช่องให้ตำรวจบางคนเรียกรับสินบน หรือนักการเมืองบางคนใช้กฎหมายนี้เพื่อจับฝ่ายตรงข้ามเข้าคุก
คนออสเตรเลียยังตระหนักดีว่า การมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียจะเกิดผลร้ายแรงแค่ไหน แม้เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
เวลาเดียวกัน บาหลีไม่อาจแบกรับผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อีก ขณะที่การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ข้อมูลจากสถาบันอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในเมืองเพิร์ธ ของออสเตรเลีย ระบุว่า ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางไปบาหลี 1.23 ล้านคน เทียบกับปี 2021 ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนเกาะนี้แค่ 51 คนเนื่องจากโควิด
กระนั้น เดือนกรกฎาคมปีนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียเผยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศกว่า 470,000 คน สูงสุดนับจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิดในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ วอตช์ประจำเอเชีย ทวิตว่า กฎหมายใหม่ของอินโดนีเซียจะ “ทำลายการท่องเที่ยวบาหลี”
โยมาน ไกด์ทัวร์ที่ทำงานในบาหลีตั้งแต่ปี 2017 เห็นด้วยว่า กฎหมายใหม่จะส่งผลกระทบรุนแรงมากทั่วอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาหลี และเขากังวลมากเพราะรายได้หลักอิงกับการท่องเที่ยว
(ที่มา: บีบีซี, เอเจนซีส์)