นักศึกษามหาวิทยาลัยในอิหร่าน 1,200 คนล้มป่วยเนื่องจาก “อาหารเป็นพิษ” ก่อนที่จะถึงวันนัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศในสัปดาห์นี้
สหภาพนักศึกษาแห่งชาติอิหร่านแถลงว่า นักศึกษาจำนวนมากของมหาวิทยาลัย Karazmi และมหาวิทยาลัย Ark เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เจ็บปวดตามร่างกาย และประสาทหลอน และยังมีนักศึกษาจากอีกอย่างน้อย 4 มหาวิทยาลัยที่ล้มป่วยลงพร้อมๆ กัน
นักศึกษาที่ไม่ได้ป่วยต่างพากันบอยคอตต์ไม่กินข้าวในโรงอาหารเพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แม้เจ้าหน้าที่อิหร่านจะอธิบายว่า สาเหตุที่นักศึกษาล้มป่วยเกิดจาก “แบคทีเรียในน้ำ” แต่ทางสหภาพนักศึกษาเชื่อว่าพวกเขาถูก “วางยาพิษ” อย่างจงใจ
“เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วที่มหาวิทยาลัยอิสฟาฮาน ซึ่งทำให้เหตุผลของภาครัฐฟังไม่ขึ้น” สหภาพนักศึกษาระบุในถ้อยแถลงผ่าน Telegram
สำนักข่าว Arab News รายงานว่า คลินิกในมหาวิทยาลัยหลายแห่งปิดให้บริการชั่วคราว หรือไม่มียาที่จะรักษาภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งทำให้นักศึกษายิ่งเชื่อว่าพวกเขาถูกวางยาเพื่อสกัดไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงใหญ่ 3 วันที่จะสิ้นสุดในวันพุธ (7 ธ.ค.) เพื่อตอบโต้เรื่องที่รัฐบาลอ้างว่าได้ยุบหน่วย “ตำรวจศีลธรรม” ลงแล้ว
ตำรวจศีลธรรม หรือ Gasht-e-Ershad เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 เพื่อบังคับใช้กฎการแต่งกายที่เข้มงวดสำหรับสตรี โดยภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 เป็นต้นมา ผู้หญิงอิหร่านทุกคนก็ถูกกำหนดให้ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจศีลธรรมเริ่มถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนัก หลังเกิดกรณีที่ มะห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงวัย 22 ปี ถูกจับฐานคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อยเมื่อเดือน ก.ย. และเสียชีวิตในอีก 3 วันให้หลังระหว่างที่ถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัว
การจบชีวิตอย่างไร้คำอธิบายของ อามินี ได้จุดกระแสประท้วงใหญ่ทั่วอิหร่าน ซึ่งนอกจากจะมีการเดินขบวนตามท้องถนนแล้ว นักแสดงหญิงชื่อดังชาวอิหร่านบางคน เช่น Hengameh Ghaziani และ Katayoun Riahi ก็ออกมาร่วมแสดงจุดยืนด้วยการแชร์ภาพถ่ายตนเองขณะไม่สวมฮิญาบในที่สาธารณะด้วย
แม้จะเผชิญกระแสลุกฮือของประชาชน ทว่ารัฐบาลอิหร่านก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมอ่อนข้อให้มากนัก โดยหลังจากที่มีข่าวว่าตำรวจศีลธรรมถูกยุบไปแล้ว ภาครัฐก็ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่าเรื่องดังกล่าว “ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการ”
ที่มา : New York Post