xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงสุด UK ชี้สกอตแลนด์ ‘ไม่มีสิทธิจัดประชามติแยกตัว’ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์
ศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรมีคำตัดสินวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า สกอตแลนด์ไม่สามารถจัดประชามติแยกตัวเป็นเอกราชครั้งที่ 2 ได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการดับฝันของกลุ่มชาตินิยมสกอตที่หวังผลักดันให้มีการทำประชามติอีกครั้งในปีหน้า

นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ และหัวหน้าพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (SNP) ที่มีจุดยืนโปรเอกราช ประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่า เธอตั้งใจที่จะจัดการลงประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักรอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค. ปี 2023 ทว่ากระบวนการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

แม้ศาลสูงสุดจะตัดสินมาแล้วว่า เธอจะทำเช่นนั้นโดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐสภาอังกฤษไม่ได้ แต่ สเตอร์เจียน ยังคงยืนกรานที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2024 โดยพรรคของเธอจะชูนโยบายให้คนสกอตแลนด์เลือกว่าต้องการเป็นเอกราชหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาจะถือเป็น “ประชามติ” แบบกลายๆ

“เราจำเป็นต้องหาช่องทางที่เป็นประชาธิปไตย ถูกกฎหมาย และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ชาวสกอตแลนด์ได้มีโอกาสแสดงเจตนารมณ์ ซึ่งดิฉันคิดว่าจะสามารถทำได้ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น” สเตอร์เจียน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ผลประชามติเมื่อปี 2014 พบว่า มีคนสกอตแลนด์ “ปฏิเสธ” การแยกตัวออกจากอังกฤษ 55% ต่อ 45% แต่กระนั้นกลุ่มชาตินิยมก็ยังโต้เถียงว่า ผลการโหวตกฎหมาย “เบร็กซิต” หรือการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปซึ่งจัดขึ้นในอีก 2 ปีต่อมา และคนสกอตแลนด์ส่วนใหญ่โหวต “คัดค้าน” ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง


รัฐบาลลอนดอนประกาศย้ำหลายครั้งว่าจะ “ไม่อนุญาต” ให้สกอตแลนด์ทำประชามติแยกตัวอีกครั้งเร็วๆ นี้ โดยให้เหตุผลว่าการโหวตในประเด็นดังกล่าวสมควรจัดขึ้นเพียง 1 ครั้งต่อชั่วอายุคน

คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดทั้ง 5 คนลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐบาลสกอตแลนด์ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อจัดประชามติแยกตัวรอบสอง โดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐสภาอังกฤษ

“เราเคารพในคำพิพากษาที่ชัดเจนของศาลสูงสุด” นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ ให้สัมภาษณ์

“ผมเชื่อว่าคนสกอตแลนด์ต้องการให้เราทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายที่เราเผชิญอยู่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) รวมไปถึงการสนับสนุนยูเครน มันถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน”

ฝ่ายที่รณรงค์เรียกร้องเอกราชอ้างว่า คนสกอตแลนด์ควรมีสิทธิตัดสินใจเองว่าจะตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้อย่างไร เนื่องจากรัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษก็ไม่เป็นที่นิยมในสกอตแลนด์ โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่ามีชาวสกอตที่สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมของ ซูแน็ก เพียง 15% เท่านั้น

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น