ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และบรรดาผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันเสาร์ (12 พ.ย.) เปิดตัวความเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" ในขณะที่วอชิงตันยกระดับการลงทุนเพื่อตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในภูมิภาคแถบนี้
ส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มอาเซียน ไบเดนแถลงแพกเกจช่วยเหลือด้านการทหาร 850 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000 ล้านบาท) ระหว่างการประชุมทวิภาคีกับบรรดาสมาชิกอาเซียนในกรุงพนมเปญ รอบนอกการประชุมประจำปีสุดยอดผู้นำอาเซียน
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าสมาชิกอาเซียนเป็น "แก่นกลางในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลของผม" พร้อมเน้นว่าพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม จะดึงวอชิงตันและสมาชิกอาเซียนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในความร่วมมือจัดการกับความท้าทายต่างๆ ไล่ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหารและภัยคุกคามความมั่นคง เช่นเดียวกับเพื่อสร้างอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง มีเสถียรภาพ ความรุ่งเรือง ยืดหยุ่นและมั่นคง
ไบเดนได้เอ่ยถึงภาคต่างๆ ที่สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับภูมิภาคแถบนี้ ในนั้นรวมถึงการวิจัยยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การเชื่อมต่อที่ดีขึ้นและการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ไบเดน จะดูเหนื่อยล้าจากการเดินทางมาจากการประชุมโลกร้อนในอียิปต์เมื่อวันเสาร์ (11 พ.ย.) โดยเขาสับสนพูดเปิดการประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาเป็นประธาน บอกว่า “ผมขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีสำหรับความเป็นผู้นำของโคลอมเบียในฐานะประธานอาเซียน”
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในพนมเปญ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันอาทิตย์ (12 พ.ย.) ไบเดนจะเดินหน้าไปยังเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียต่อทันที เพื่อร่วมประชุมจี 20
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับแรงสนับสนุนที่มีต่ออาเซียน และเน้นย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมายาวนานมากกว่า 4 ทศวรรษ
หลังจากการทูตระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนหยุดชะงักมานานหลายปี เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวทางที่คลุมเครือในด้านความสัมพันธ์กับบรรดาผู้นำอาเซียน ทางไบเดนประกาศยกระดับความสัมพันธ์กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต้านทานอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ของจีน
นอกเหนือจากด้านการทูตแล้ว ความเป็นคู่อริกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังรวมไปถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยที่ปักกิ่งอยู่ในสถานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมกับอาเซียนเช่นกัน
ในปี 2021 การค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนกับจีน แตะระดับ 668,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนการค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 364,400 ล้านดอลลาร์ แต่การลงทุนของจีนในภูมิภาคแถบนี้อยู่ที่ 13,500 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าวอชิงตันซึ่งอยู่ที่ระดับ 40,000 ล้านดอลลาร์
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งในปี 1967 ประกอบด้วยพม่า บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย
(ที่มา : นิกกิอิเอเชีย/อีเอฟเอ)