วันนี้ (12 พ.ย.) เวลา 14.25 น. ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 25 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เชิญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเปิดการประชุม ตามด้วย นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น กล่าวถ้อยแถลง และผู้นำอาเซียนกล่าวถ้อยแถลงเป็นรายประเทศ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ว่า “คากายาเครุ ยูโจว, คากายาเครุ คิไก” “มิตรภาพเรืองรอง โอกาสทองของเรา” ซึ่งเป็นคำขวัญสำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้น สะท้อนมิตรภาพและความร่วมมืออย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งเห็นชอบที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปีหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนดำเนินงานตามถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และเมื่อมองไปข้างหน้า อาเซียนเห็น “โอกาสทอง” มากมายในมิตรภาพของทั้งสองฝ่าย ดังนี้
การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุข โดยไทยขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) และยินดีที่อาเซียนบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับประเทศเจ้าภาพและรูปแบบของศูนย์ ACPHEED แล้ว และมุ่งหวังว่าจะจัดทำความตกลงการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้แล้วเสร็จต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาเซียนและญี่ปุ่นควรร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยส่งเสริมความร่วมมือบนพื้นฐานของหลักการภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง AOIP กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอาเซียนและญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟูที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนต่อไป เพื่อให้อาเซียนเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยพร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
ด้านความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ขอบคุณญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กีฬา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความพยายามร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน
ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค มุ่งเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะทะเล ตลอดจนพลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้วาระปฏิบัติการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน-ญี่ปุ่น 2.0 และการเติบโตสีเขียว
ด้านประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาเซียนมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีภายนอกทั้งหมดเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ขณะที่ประเด็นทะเลจีนใต้ เน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) และมุ่งหมายที่จะจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ. 1982 ให้สำเร็จลุล่วง รวมทั้งประเด็นคาบสมุทรเกาหลี เน้นการหารือโดยสันติอย่างต่อเนื่องระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งมั่นในการดำเนินการตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาเซียนพร้อมที่จะแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาโดยสันติ
โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า อาเซียนมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างมิตรภาพให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-ญี่ปุ่นให้สูงขึ้น และมีประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ โดยอาเซียนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่