นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมช็อกโลกในปีนี้ หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวนับร้อยคนเหยียบกันตายระหว่างเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนที่ย่านอิแทวอน (Itaewon) หนึ่งในแหล่งชอปปิ้งและสถานบันเทิงชื่อดังของกรุงโซล และในขณะที่ทางการเกาหลีใต้ยังอยู่ระหว่างสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้ แต่ประเด็นที่สังคมคาใจมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงมาตรการควบคุมฝูงชนที่เรียกได้ว่า “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ นักท่องเที่ยวราว 100,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวต่างหลั่งไหลเข้าไปที่ย่านอิแทวอนเพื่อสนุกสนานผ่อนคลายแบบ “ไร้หน้ากาก” ในช่วงเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังจากที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ตามข้อมูลจากรถไฟใต้ดินกรุงโซลพบว่า มีผู้โดยสารลงที่สถานีรถไฟใต้ดินอิแทวอนในวันนั้นมากถึง 81,573 คน สูงกว่าสถิติ 23,800 ในสัปดาห์ก่อนหน้า และ 35,950 คนในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค.
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารกรุงโซลกลับวางกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่อิแทวอนเพียงแค่ 137 นาย ซึ่งตรงกันข้ามกับคอนเสิร์ตของวงเคป็อปชื่อดัง BTS ที่เมืองปูซาน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่มีแฟนๆ เข้าชมคอนเสิร์ตประมาณ 55,000 คน และมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตรึงกำลังหนาแน่นถึง 2,700 นาย
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เหตุการณ์ชุลมุนเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. หรือ 20.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เมื่อนักท่องเที่ยวต่างพากันกรูเข้าไปที่ซอยเล็กข้างๆ โรงแรมแฮมิลตัน (Hamilton Hotel) ที่กว้างแค่ราวๆ 3.2 เมตร และเป็นทางลาดชัน 20-30 องศา ต่อมาผู้คนหลายร้อยที่เบียดเสียดกันแน่นเริ่มเกิดการดันกัน จนคนข้างหลังซึ่งอยู่ตรงที่สูงกว่าล้มลงมาทับคนข้างหน้าต่อๆ กันเป็นโดมิโน ผู้ที่ร่วงล้มอยู่ด้านล่างถูกกดทับจากน้ำหนักที่ทับอยู่ด้านบนรวมหลายร้อยกิโลกรัม ส่งผลให้ขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก
แอนน์-ลู เชอวาลิเยร์ นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวฝรั่งเศสวัย 22 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เธอหมดสติท่ามกลางฝูงชนหลังจากที่ถูก “บีบอัด” โดยผู้คนรอบๆ “บางช่วงมันไม่มีอากาศหายใจเลยจริงๆ และพวกเราต่างถูกเบียดติดกับคนอื่นๆ จนฉันหายใจไม่ออก แล้วก็หมดสติไปเลย”
ผู้เหตุการณ์รวมถึงผู้ที่รอดชีวิตหลายคนพูดตรงกันว่า พวกเขา “แทบไม่เห็น” ตำรวจในพื้นที่ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ
ในบันทึกสายด่วนฉุกเฉินที่เผยแพร่โดยตำรวจ พบว่า สายแจ้งเตือนแรกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเหตุการณ์สลด เกิดขึ้นตอนเวลา 18.34 น.ของวันเสาร์ (29 ต.ค.) หรือราวๆ 4 ชั่วโมง ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมผู้คนเบียดเสียดกันขาดอากาศหายใจเสียชีวิตจำนวนมาก
อี ซังมิน (Lee Sang Min) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยของเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ (30) หลังเกิดเหตุการณ์ 1 วันว่า มีการส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าไปรักษาความปลอดภัยที่อิแทวอน “ตามปกติ” เพราะไม่คิดว่าคนจะเยอะขนาดนี้ ในขณะที่ตำรวจยังต้องแบ่งกำลังไปดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของสหภาพแรงงาน ซึ่งจัดขึ้นที่ย่านกวางฮวามุน (Gwanghwamun) ใจกลางกรุงโซลในวันเดียวกัน
รายงานระบุว่า พื้นที่ชุมนุมดังกล่าวมีตำรวจคุมเข้มถึง 4,000 นาย ทั้งที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแค่ราวๆ 20,000 คน
หลังโดนทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านและชาวเน็ตรุมถล่มอย่างหนัก ทางการก็ออกมาให้ข้อมูลใหม่เมื่อวันจันทร์ (31) ว่า มีตำรวจอยู่ที่อิแทวอนในคืนเกิดเหตุทั้งหมด 137 นาย ซึ่งถือว่า “มากกว่า” จำนวน 30-70 นายที่เคยส่งไปในช่วงก่อนมีโควิด-19
“สำหรับเทศกาลฮาโลวีนปีนี้ เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้คนไปท่องเที่ยวที่อิแทวอนมากเป็นพิเศษ ผมเข้าใจว่าได้มีการเตรียมส่งตำรวจเข้าไปมากกว่าปีก่อนๆ” โอะห์ ซึงจิน ผู้อำนวยการฝ่ายสอบสวนอาชญากรรมความรุนแรงประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ ออกมาชี้แจง
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ทางตำรวจ “ไม่มีแผนรับมือสำหรับสถานการณ์ที่ผู้คนไปรวมตัวกันในสถานที่หนึ่งจำนวนมากๆ โดยปราศจากผู้จัดงาน” และยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจที่ส่งไปก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการควบคุมฝูงชน แต่เพื่อ “ป้องกันอาชญากรรมและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย” มากกว่า
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว โดยยอดผู้เสียชีวิตตามข้อมูลเมื่อวันพุธ (2 ต.ค) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 156 คน แบ่งเป็นหญิง 101 คน และชาย 55 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย 26 คนจาก 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐเมริกา จีน อิหร่าน ศรีลังกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรีย เวียดนาม คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน รวมถึงประเทศไทยซึ่งผู้เสียชีวิตคือ น.ส.ณัฐธิชา มาแก้ว อายุ 27 ปี หรือ "ครูแบมแบม" ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอนภาษาเกาหลี
ทางการเกาหลีใต้ยืนยันตัวเลขผู้บาดเจ็บ 172 คน อาการสาหัส 33 คน และมีชาวต่างชาติอยู่ด้วยอย่างน้อย 15 คน
รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศให้เขตยองซาน (Yongsan) ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่านอิแทวอนเป็น “พื้นที่ภัยพิบัติพิเศษ” ซึ่งภาครัฐจะมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้
ยุน ฮีกึน ผู้บัญชาการตำรวจเกาหลีใต้ ออกมายอมรับเมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.) ว่า ตำรวจประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และมาตรการควบคุมฝูงชนในวันเกิดเหตุ “ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” พร้อมประกาศจะตั้งทีมสอบสวนอิสระเพื่อระบุต้นตอของเหตุสลดครั้งนี้ และ “จะทำให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้หายนะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะ “ลาออก” เพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ผบ.ตร.เกาหลีใต้ตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือต้องสาวให้ลึกถึงต้นตอของปัญหา และเมื่อผลการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์แล้วตนก็จะออกมาแสดงจุดยืนที่เหมาะสมต่อไป
ด้านประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล แห่งเกาหลีใต้ กล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (1) ว่าโศกนาฏกรรมที่อิแทวอนถือเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเกาหลีใต้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับปรุงมาตรการควบคุมฝูงชน
“ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่มีผู้จัดงานหรือไม่ก็ตาม” ประธานาธิบดี ยุน กล่าว
ผู้นำเกาหลีใต้ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนา “ศักยภาพด้านดิจิทัลที่ทันสมัย” เพื่อช่วยในการจัดการฝูงชน แต่ก็ถูกบรรดานักวิจารณ์ตอกกลับว่า เครื่องไม้เครื่องมือดังกล่าว “มีอยู่แล้ว” แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่อิแทวอน
ด้านรัฐมนตรีมหาดไทย อี ซัง-มิน (Lee Sang-min) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นว่า ต่อให้ใช้กำลังตำรวจมากขึ้นก็อาจจะป้องกันเหตุการณ์ไม่ได้อยู่ดี ซึ่งทำให้ภาครัฐยิ่งถูกสังคมตำหนิติเตียนมากขึ้นไปใหญ่
ในขณะที่คนส่วนใหญ่กล่าวโทษการทำงานของตำรวจ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า เมื่อคนผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเบียดเสียดกันในซอยแคบอย่างที่อิแทวอน จนถึงขั้นที่พวกเขาไม่สามารถขยับเนื้อตัว หรือควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หายนะก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
“กว่าคุณจะรู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ก็สายเกินไปแล้วที่จะหนีออกมา เพราะไม่มีช่องทางให้คุณหนีได้” มิลาด ฮากานี อาจารย์ประจำโรงเรียนวิศวกรรมพลเรือนและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ให้ความเห็น
ฮากานี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมฝูงชนและการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินชี้ว่า เมื่อความแออัดมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ฝูงชนจะเริ่มสูญเสียการควบคุม และเกิดความโกลาหลขึ้นเองโดยอาจจะไม่มีใครตั้งใจก่อเหตุวุ่นวาย
“ณ เวลานั้นถ้ามีใครคนหนึ่งล้มลง ความตื่นตระหนกอาจจะทำให้คนอีกหลายคนเสียการทรงตัว และทยอยล้มทับกันไปเรื่อยๆ” เขากล่าว
ฮากานี ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากมีคน 5 คนยืนอยู่ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร อาจทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ก็ยังพอจัดการได้ แต่ถ้าตัวเลขเพิ่มเป็น 8-9 คนต่อตารางเมตรหรือมากกว่านั้น สถานการณ์จะเข้าขั้น “อันตราย” เพราะแรงดันที่เกิดจากคลื่นมหาชนนั้นมากพอที่จะ “งอ” แท่งเหล็กได้ และสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกบีบอัดจนทรวงอกไม่สามารถขยาย ทำให้ขาดอากาศหายใจ (asphyxiation) ในที่สุด
บาร์และไนต์คลับที่อิแทวอนเป็นสถานบันเทิงซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ที่ประจำการในเกาหลีใต้ ขณะที่กิจกรรมฮาโลวีนของที่นี่ก็เริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ราวๆ 10 ปีที่แล้ว
สำหรับถนนแคบๆ ข้างโรงแรมแฮมิลตันนั้นอยู่ใกล้กับทางออกของสถานีรถไฟใต้ดิน และเป็นเส้นทางที่ผู้คนมักจะใช้เดินเชื่อมระหว่างถนนสายหลักของอิแทวอนกับร้านอาหาร บาร์ และไนต์คลับที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่ง
ในขณะที่ชาวเกาหลีใต้กำลังไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ให้โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ก็เริ่มมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงประณามหรือกล่าวโทษเหยื่อผู้เสียชีวิต เช่นว่า ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องไว้ทุกข์ให้กับพวกที่เสียชีวิตจากการออกไปหาความสำราญ อีกทั้งยังปรากฏวิดีโอยั่วยุอารมณ์โกรธของเหตุการณ์ถูกส่งต่ออย่างกว้างขวาง และมีการปล่อยข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับต้นตอเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เช่นว่า มีการใช้ยาเสพติดและก๊าซรั่ว หรือทฤษฎีที่ว่ามี “คนดัง” ไปปรากฏตัวที่นั่นจนทำให้ผู้คนเกิดการเฮโลเพื่อที่จะเข้าไปพบดาราที่ตนชื่นชอบ เป็นต้น
หนังสือพิมพ์ดองอาอิลโบได้เผยแพร่บทความตำหนิพฤติกรรมสร้างความเกลียดชังดังกล่าว และเตือนให้ผู้คนอย่าลืม “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “ความเห็นอกเห็นใจ” ซึ่งจะทำให้สังคมมีความเข้มแข็งและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น