(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Markets have China’s new leadership all wrong
By UWE PARPART And DAVID WOO
28/10/2022
ไม่เฉพาะแต่ หลี่ เฉียง ผู้ได้รับการวางตัวให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านการบริหาร การปฏิรูป และนวัตกรรมเทคโนโลยี ยังมีกลุ่มบุคคลที่จะเข้าเป็นทีมทำงานของ หลี่ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมือระดับเซียนผู้เก่งกาจและมากประสบการณ์ ไม่ใช่แค่เป็น “ผู้จงรักภักดี” ต่อ สี จิ้นผิง อย่างที่พวกนักวิจารณ์ตะวันตกผู้ขี้เกียจค้นคว้าเจาะลึก พากันปรามาสกันเอาไว้
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม (ซึ่งเป็นวันแรกที่พวกตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายภายหลังการประชุมเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ของสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง -ผู้แปล) ดัชนีหุ้น Hong Kong China 50 Index ซึ่งครอบคลุมบริษัทจีนระดับท็อป 50 รายที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น หล่นลงมาเกือบ 6% ท่ามกลางปริมาณซื้อขายที่หนาแน่น
พวกหุ้นตัวที่มีต่างชาติถือครองกันเป็นจำนวนมาก เป็นพวกที่ถูกกระทบอย่างแรงเป็นพิเศษ โดยที่หุ้นบริษัทอาลีบาบา (Alibaba) เทนเซนต์ (Tencent) และเหม่ยถวน (Meituan) ต่างดำดิ่งมากกว่า 10% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นแผ่นดินใหญ่โดยผ่านทาง Shanghai-Hong Kong Stock Connect คิดเป็นจำนวนสุทธิ 2,500 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ค่าเงินสกุลเหรินหมินปี้ก็วูบลงสู่ระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา
การที่ต่างชาติเทขายสินทรัพย์ทรัพย์จีนกันเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศมีความรับรู้ความเข้าใจที่ย่ำแย่เกี่ยวกับคณะผู้นำจีนชุดใหม่ซึ่งมีการเปิดตัวกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม การรายงานข่าวของฝ่ายตะวันตกนั้นมุ่งโฟกัสไปยังข้อเท็จจริงที่ว่า เหล่าสมาชิกของคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่นี้ มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่ของพรรค
นักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวตะวันตกผู้หนึ่งเขียนเอาไว้ดังนี้ “นี่คือคณะผู้นำที่จะมุ่งโฟกัสไปที่การทำให้เป้าหมายต่างๆ ทางการเมืองของ สี ประสบผล มากกว่าที่จะเดินหน้าเสาะหาวาระของพวกเขาเองเพื่อกระทำสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ”
เราขอมีความเห็นที่ต่างออกไป ในอดีตนั้น ผู้ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน ต้องใช้เวลาจำนวนมากในวาระแรกของเขาในการรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ในมือของเขาอย่างมั่นคง แทนที่จะใช้ไปในการทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุผล
ข้อเท็จจริงที่ว่า สี อยู่ในวาระที่ 3 ของเขาแล้ว จึงไม่ต้องไปเกี่ยวข้องในเรื่องการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ ภายในพรรคกันอีก จึงสมควรที่จะเปิดทางให้เขาสามารถโฟกัสพลังงานของเขาไปอยู่ที่การปฏิบัติตามวาระทางนโยบายของเขา
ยิ่งไปกว่านั้น และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นเสียอีก ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า สี ได้นำเอาผู้นำทางการเมืองซึ่งมีประสบการณ์และภูมิหลังเฉกเช่น หลี่ เฉียง เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ในตำแหน่งหมายเลข 2 และในฐานะเป็นผู้ที่จะขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศคนต่อไป เรื่องนี้บอกให้เราทราบว่าตลาดกำลังวินิจฉัยทิศทางด้านนโยบายของตัว สี เองอย่างผิดพลาดโดยสิ้นเชิงทีเดียว
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ปกครองเหนือ “วังเหนือ” (North Palace นั่นคือ คณะรัฐมนตรี) และประธานาธิบดี สี ปกครองเหนือ “วังใต้” (South Palace นั่นคือ สำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน) นั้น ระหว่าง หลี่ กับ สี ไม่ได้มีความเป็นปรปักษ์กันอย่างชัดเจนโจ่งแจ้ง หรือมีการเดินหมากช่วงชิงตำแหน่งกันเลย
แต่มีแรงเสียดทาน มีความไม่เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่างๆ และ—ที่ตรงประเด็นมากที่สุด— มีเสียงบ่มพึมอย่างอดกลั้นไม่ไหวจาก “วังใต้” ในเรื่องการขาดความฉับไวในการนำเอานโยบายไปปฏิบัติ
มาถึงตอนนี้ แรงเสียดทานเช่นนี้จะลบเลือนสูญหายไป พวกเอกสารทางนโยบายที่เขียนขึ้นมาโดย สี ขณะที่เขาบริหารมณฑลเจ้อเจียงอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วร่างโดยเลขานุการของเขา ซึ่งก็คือ หลี่ เฉียง ด้วยเหตุนี้ หลี่ คนนี้จะได้รับอิสระเสรีมากขึ้น และได้รับความไว้วางใจจาก สี ยิ่งกว่า หลี่ คนก่อนหน้าเขา
ใครกันนะ หลี่ เฉียง คนนี้? พวกขาใหญ่นักวิจารณ์ให้ความเห็นทางสื่อ แปะป้ายให้เขาว่า เป็นพวกจงรักภักดีต่อ สี แล้วก็รู้สึกพออกพอใจกับป้ายซึ่งแสดงถึงความปรามาสและไม่สนใจไยดีเช่นนี้ ตลอดจนขี้เกียจขี้คร้านเกินกว่าจะสืบเสาะค้นหาความจริงให้มากขึ้น
หลี่ เฉียง นั้นเป็นชาวเมืองเวินโจว (Wenzhou) (ในมณฑลเจ้อเจียง) หนึ่งในนครที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศจีน เมืองนี้เป็นเมืองขนาดใหญ่แห่งแรกที่ริเริ่มและนำเอาการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังในปี 1978 รวมทั้งเป็นเมืองแรกที่เปิดทางให้จัดตั้งวิสาหกิจเอกชนขึ้นมา และนับแต่นั้นก็ไม่มีการยุติหยุดยั้งกันเลย รายได้ประชาชาติต่อหัวของเมืองนี้ในช่วงระยะดังกล่าวเติบโตในอัตรา 500 เท่าตัว
เวินโจว ยังเป็นที่รู้จักเลื่องชื่อในฐานะเป็นแหล่งบ่มเพาะพวกนักคณิตศาสตร์ของดินแดนจีนและปริมณฑลรายรอบ สีว์ เซี่ยนซิว (Shu Shien-Siu) (เกิดปี 1912) ก็เติบโตจากเมืองเวินโจว เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) และสถาบันเทคโนโลยีแมตซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ในช่วงทศวรรษ 1940 และต่อมา –จากปี 1979 ถึงปี 1988— เขาเป็นประธานของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน (the Industrial Technology Research Institute of Taiwan) และช่วยเหลือก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมซินจู๋ (Hsinchu Science and Industrial Park หรือ HSIP) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็น “บิดาแห่ง HSIP” ซึ่งเป็นที่ตั้งของพวกอุตสาหกรรม “ซิลิคอน แวลลีย์” แห่งไต้หวัน
หลี่ เริ่มต้นอาชีพทางการเมืองของเขาในเมืองเวินโจว ในตำแหน่งเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นั่น ต่อจากนั้น ด้วยปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคฮ่องกง (Hong Kong Polytechnic University) หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมของเอเชีย เขาทำงานอยู่กับ สี ในเจ้อเจียง และตัวเขาเองก็ขึ้นเป็นผู้ว่าการของมณฑลนี้ในปี 2013 และถึงปี 2017 เขาก้าวไปเป็นเลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้
เขาผลักดันงานพัฒนาพวกอุตสาหกรรมไฮเทค และการสร้างนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Special Economic Zone) จนกระทั่งถือเป็นผลสำเร็จอันโดดเด่นของเขา
จากนั้นเขาก็พลาดพลั้งล้มเหลวไม่สามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับไวรัสโควิดตัวกลายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในเซี่ยงไฮ้ โดยมีรายงานว่า เขามีปฏิกิริยาตอบโต้กับการระบาดล่าช้าเกินไป จนกระทั่งต้องมีการส่ง ซุน ชุนหลัน (Sun Chunlan) สมาชิกกรมการเมืองพรรคที่ได้สมญานามว่า “สตรีเหล็ก” เข้าไปบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด กระนั้นก็ตาม สี ก็ต้องการประสบการณ์และแรงขับดันด้านการปฏิรูปของ หลี่ มาเป็นตัวบริหารเศรษฐกิจของจีน ขณะที่ ซุน เกษียณอายุไม่ได้ไปต่อ
เมื่อขึ้นครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลี่ จะมีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถในระดับทัดเทียมกันมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีของเขา โดยในกรมการเมืองพรรคชุดใหม่ที่ประกาศชื่อกันออกมาคราวนี้ สมาชิกหน้าใหม่ๆ ได้แก่ จาง กั๋วชิง (Zhang Guoqing) หลิว กั๋วจง (Liu Guozhong) และอิ่น ลี่ (Yin Li) ได้รับการระบุตัวบอกใบ้กันว่าจะเข้าไปอยู่ในทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของ หลี่ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่กัน (ภายหลังการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภา ของจีน -ผู้แปล) ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2023
จาง จะเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบันเขาอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเหลียวหนิง แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีของ 2 มหานครใหญ่ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ามณฑล ได้แก่ ฉงชิ่ง และเทียนจิน เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua) และเคยเข้าเรียนคอร์สบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร ที่คณะบริหารธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School)
สำหรับ หลิว เวลานี้เป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของ สี ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเสฉวน หลิวได้รับปริญญาระดับหลังปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน (Harbin Institute of Technology) และจะได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร
ส่วน อิ่น ลี่ เป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลฝู่เจี้ยน เขาสำเร็จการศึกษาและประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข และเคยครองตำแหน่งระดับนำทั้งในสำนักงานบริหารอาหารและยาของจีน และที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระหว่างปี 2002 ถึง 2003 อิ่น เข้าเรียนและจบการศึกษาในฐานะเป็นนักวิชาการรับเชิญ (visiting scholar) ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ที เอช ชาน (T H Chan School of Public Health) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองรัฐมนตรีสาธารณสุขของจีนด้วย
การแต่งตั้งที่สำคัญๆ อีก 2 ตำแหน่งซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมเช่นกัน ได้แก่ ผู้ที่จะมาแทนที่ รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ (Liu He) ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 70 ปี และผู้มาแทนที่ อี้ กัง (Yi Gang) ผู้ว่าการของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China หรือ PBOC ซึ่งก็คือแบงก์ชาติจีน) โดยที่ทั้ง 2 คนนี้ต่างจะเกษียณอายุแล้ว
หลิว เหอ จะส่งมอบอำนาจหน้าที่ซึ่งเขาได้รับมอบหมายไปให้แก่ เหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) ที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบคณะกรรมการการพัมนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) เหอ อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2017 และเป็นหน้าใหม่อีกรายหนึ่งที่ได้ขึ้นไปเป็นสมาชิกกรมการเมืองของพรรคในคราวนี้ เหอ ลี่เฟิง คือผู้ที่ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ หลิว ในการบริหารนโยบายต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน
เขาศึกษาด้านการเงินที่คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (Xiamen University) และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เขาเริ่มต้นอาชีพทางการเมืองของเขาที่รัฐบาลท้องถิ่นระดับเทศบาลของเมืองเซี่ยเหมิน และมีบทบาทในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยเหมินขึ้นมา
สำหรับผู้ที่น่าจะเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งของ อี้ กัง ณ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ได้แก่ อิน หย่ง (Yin Yong) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 53 ปี เขาเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าการแบงก์ชาติแห่งนี้มาแล้ว และปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการพรรคประจำมหานครปักกิ่ง เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิงหัว และได้ปริญญาโทด้านการบริหารรัฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
อิน เคยเป็นผู้บริหารของสำนักงานบริหารการปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ (State Administration of Foreign Exchange) เป็นเวลา 7 ปี และเป็นนักเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศมากประสบการณ์ ตั้งแต่ปี 2018 เขาทำงานใกล้ชิดกับ ไช่ ฉี (Cai Qi) เลขาธิการพรรคประจำปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคชุดใหม่
หลี่ เฉียง จะเป็นผู้นำของทีมนักบริหารและนักเศรษฐศาสตร์ผู้ผ่านงานมามากมาย โดยมีประสบการณ์ในระดับระหว่างประเทศอย่างอุดมสมบูรณ์ มีความมุ่งมั่นผูกพันกับการปฏิรูป การเปิดระบบเศรษฐกิจให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก และกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อ สี แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกสำหรับทิศทางของจีนในระหว่างช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า ก็คือคุณสมบัติต่างๆ ของพวกเขา และหลักยึดต่างๆ ทางด้านนโยบายของพวกเขา เรื่องความจงรักภักดีเป็นสิ่งที่แทบไม่ได้บอกอะไรเราเลย แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า สี ได้เลือกสรรหยิบเอาผู้จงรักภักดีกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง คือสิ่งซึ่งบอกอะไรบางอย่างที่สำคัญยิ่งยวดเกี่ยวกับตัว สี จิ้นผิง และทิศทางด้านนโยบายของเขา