องค์กรผู้บริโภคเผยผลสำรวจวันนี้ (20 ต.ค.) พบว่าชาวอังกฤษหลายล้านคนถึงขั้นต้องยอม “อดมื้อกินมื้อ” กันแล้วเนื่องจากค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น โดยก่อนหน้านี้ มีคำเตือนว่าคนอังกฤษเสี่ยงที่จะเผชิญ “ความยากจนด้านเชื้อเพลิง” (fuel poverty) หลังจากที่รัฐบาลประกาศกลับลำนโยบายตรึงราคาพลังงาน
ตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งทะลุ 10% ในเดือน ก.ย. ท่ามกลางราคาอาหารที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้าใส่นายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ซึ่งเข้ามากุมบังเหียนรัฐบาลได้แค่เดือนเศษๆ
องค์กรผู้บริโภค Which? อ้างผลสำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษ 3,000 คน ซึ่งพบว่าครัวเรือนในสหราชอาณาจักรราว “ครึ่งหนึ่ง” ลดจำนวนมื้ออาหารในแต่ละวันลง
ผู้ตอบคำถามจำนวนพอๆ กันบอกว่า พวกเขา “รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่ 80% ยอมรับว่าประสบปัญหาทางการเงิน
“วิกฤตค่าครองชีพสูงครั้งนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างน่ากังวล และทำให้คนหลายล้านคนต้องอดมื้อกินมื้อ หรือลำบากที่จะหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพมารับประทาน” ซู เดวีส์ ประธานฝ่ายนโยบายด้านอาหารของ Which? ระบุ
ทางกลุ่มยังออกมาเตือนเมื่อวันพุธ (19) ว่า การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจปรับลดนโยบายตรึงราคาพลังงานอาจทำให้คนอังกฤษนับล้านๆ ไม่มีเงินจ่ายค่าเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความอบอุ่นแก่บ้านเรือนได้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูหนาว
เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษคนใหม่ ประกาศเมื่อวันจันทร์ (18) ว่า มาตรการตรึงราคาพลังงานเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนจะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. ปี 2023 จากเดิมที่รัฐบาลเคยรับปากว่าจะคงนโยบายนี้ไปจนถึงช่วงปลายปี 2024
“การที่รัฐบาลจะเลิกอุดหนุนราคาพลังงานอย่างครอบคลุมในเดือน เม.ย. เสี่ยงที่จะทำให้หลายล้านครัวเรือนในอังกฤษต้องเผชิญความยากจนด้านเชื้อเพลิง และไม่ใช่แค่ครัวเรือนที่เปราะบางทางการเงินที่สุดเท่านั้น” โรซิโอ คอนชา หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการสนับสนุนของ Which? กล่าวเสริม
“รัฐบาลต้องชี้แจงว่าจะช่วยคนหาเช้ากินค่ำให้อยู่รอดไปถึงฤดูใบไม้ผลิได้อย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้บริโภคต้องเผชิญความหนาวเหน็บ ในระหว่างที่ราคาพลังงานยังคงสูงลิ่ว”
นโยบายตรึงราคาพลังงานมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในอังกฤษ หลังราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัสเซียซึ่งเป็นชาติผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ทำสงครามรุกรานยูเครน
ที่มา : เอเอฟพี