xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนา ‘โควิดสายพันธุ์ใหม่’ อัตราการตายสูง 80%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตันจุดกระแสวิจารณ์อื้ออึง หลังทดลองผสมสายพันธุ์โควิด-19 จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 80% ในหนูทดลอง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่แห่งชาติ (National Emerging Infection Disease Laboratories) ซึ่งเป็นสถาบันชีววิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบอสตัน โดยนำเอาโปรตีนหนามจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 มาผสมเข้ากับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในเมืองอู่ฮั่น

ผลการศึกษาพบว่า ไวรัสโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อที่ "ไม่รุนแรง" ในหนูทดลอง ทว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งถูกตัดต่อโปรตีนหนามของโอมิครอนเข้าไป ทำให้อัตราตายของหนูทดลองสูงถึง 80%

สำหรับหนูทดลองที่ได้รับเฉพาะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมมีอัตราการเสียชีวิต 100%

ทีมนักวิจัยยังพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ไฮบริดมีอนุภาคก่อโรค (infectious virus particles) มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนถึง 5 เท่าตัว

จากผลการศึกษานี้ทำให้นักวิจัยได้ข้อสันนิษฐานว่า โปรตีนหนามคือส่วนที่บ่งบอกถึงศักยภาพในการแพร่เชื้อ (infectivity) ของไวรัส ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอื่นๆ เป็นตัวกำหนดว่าไวรัสจะมีความรุนแรง (deadliness) มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสียงเรียกตำหนิจากนักวิทยาศาสตร์บางคน ซึ่งเกรงว่าไวรัสที่มีความร้ายกาจนี้อาจหลุดรอดออกมาจนเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีกรอบ

ศาสตราจารย์ชมูเอล ชาปิรา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของรัฐบาลอิสราเอล ชี้ว่า “งานวิจัยลักษณะนี้สมควรถูกห้าม มันคือการเล่นกับไฟชัดๆ”

การสร้าง “ซูเปอร์ไวรัส” ขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัยว่ามันจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง หรือที่เรียกว่า “gain of function research” นั้น ถูกเชื่อกันว่าเป็นต้นตอการระบาดของโควิด-19 และการศึกษาวิจัยในลักษณะนี้ได้ถูกจำกัดอย่างยิ่งในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2017

ดร.ริชาร์ด อีไบรท์ นักเคมีจากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส รัฐนิวเจอร์ซีย์ บอกกับสื่อเดลีเมลของอังกฤษว่า “งานวิจัยชิ้นนี้คือตัวอย่างของ gain of function research อย่างชัดเจน” พร้อมเตือนว่าหากมนุษยชาติต้องการหลีกเลี่ยงโรคระบาดใหญ่อันเกิดจากเชื้อโรคที่หลุดออกมาจากห้องแล็บ ก็จำเป็นจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างไวรัสร้ายแรงขึ้นมาอีก

ทางมหาวิทยาลัยบอสตันได้ออกมาโต้แย้งว่า งานวิจัยนี้ไม่จัดเป็น gain of function research เนื่องจาก "ไม่ได้ทำให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่นมีความรุนแรงกว่าเดิม" แต่กลับช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคิดค้นวิธีรักษาใหม่ๆ ได้

ที่มา : Daily Mail, Boston Herald
กำลังโหลดความคิดเห็น