xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางบานปลาย! รัสเซียส่งกำลังพล 9 พันนายเข้าเบลารุส ทหารสหรัฐฯ ยืดเวลาอยู่ในลิทัวเนียป้องกันภัยคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงกลาโหมในกรุงมินสก์เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) ทหารรัสเซียราวๆ 9,000 นาย จะเข้าประจำการในเบลารุส ส่วนหนึ่งในการประจำการกองทหารร่วมในภูมิภาค เพื่อปกป้องชายแดนของพวกเขา ส่วนอีกด้านหนึ่งสหรัฐฯ ได้ขยายกรอบเวลาประจำการทหารในลิทัวเนีย ท่ามกลางความกังวลภัยคุกคามจากมอสโก ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ซ้ำเติมความวิตกว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนอาจลุกลามบานปลาย

วาเรลีย์ เรเวนโก ผู้บัญชาการฝ่ายความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ แห่งกระทรวงกลาโหมเบลารุส เขียนบนทวิตเตอร์ว่า "รถไฟทหารขบวนแรกๆ ที่มาพร้อมกับกำลังพลรัสเซีย ส่วนหนึ่งในกองทหารร่วมในภูมิภาค เริ่มเดินทางมาถึงเบลารุสแล้ว การโยกย้ายจะใช้เวลาหลายวัน และยอดรวมจะอยู่ที่ราวๆ 9,000 นาย"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เผยว่า ทหารของเขาจะประจำการร่วมกับกองกำลังรัสเซีย ใกล้ชายแดนยูเครน โดยอ้างอิงในที่เขาเรียกว่าเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากยูเครนและตะวันตก

คำกล่าวของ ลูคาเชนโก ซึ่งครองอำนาจในเบลารุสมาตั้งแต่ปี 1994 บ่งชี้ถึงโอกาสที่สงครามในยูเครนจะลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น จากความเป็นไปได้ที่เกิดการผนึกกำลังกันของกองกำลังร่วมรัสเซีย-เบลารุส ทางภาคเหนือของยูเครน

"ณ เวลานี้ การโจมตีดินแดนของเบลารุส ไม่ใช่แค่กำลังมีการพูดคุยกันในยูเครนเท่านั้น แต่กำลังมีการวางแผนกันแล้วด้วย" ลูคาเชนโก กล่าวในที่ประชุมด้านความมั่นคงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ได้มอบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว "พวกเจ้าของของพวกเขากำลังผลักดันให้พวกเขาเริ่มสงครามกับเลบารุส เพื่อลากเราไปตรงนั้น"

ในความเคลื่อนไหวที่อาจโหมกระพือสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก ฝ่ายสหรัฐฯ เองก็จะขยายเวลาหมุนเวียนประจำการกองพันรถถังหนักในลิทัวเนียเช่นกัน หลังพบว่าภัยคุกคามจากรัสเซีย นับตั้งแต่มอสโกรุกรานยูเครน ไม่ลดลงแม้แต่น้อย จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ลิทัวเนียในวันศุกร์ (14 ต.ค.)

รัฐมนตรีกลาโหมของลิทัวเนียระบุว่า กองพันดังกล่าว ซึ่งประจำการอยู่ในเมืองพาบราเดมาตั้งแต่ปี 2019 จะประจำการต่อไปอย่างน้อยๆ จนถึงช่วงต้นปี 2026

ถ้อยแถลงที่มีขึ้นตามหลังพบปะกับ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในบรัสเซลส์ รัฐมนตรีกลาโหมลิทัวเนีย บอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จำเป็นที่สุดที่ผลักดันโดยรัฐบาลปัจจุบัน

ลิทัวเนีย ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์และประเทศอื่นๆ ในแถบบอลติก อย่างลัตเวียกับเอสโตเนีย อยู่ในแนวหน้าของบรรดาชาติที่ให้การสนับสนุนยูเครน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียโจมตีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ การรุกรานดังกล่าวโหมกระพือความกังวลรอบใหม่ในบรรดาประเทศที่อดีตเคยอยู่ภายใต้การควบคุมของมอสโก และพวกเขาส่งเสียงยินดีปรีดาต่อความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ของยูเครน ที่สามารถทวงคืนดินแดนกลับมาได้อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลิทัวเนีย มองว่ากองกำลังรัสเซียยังคงมีศักยภาพในการโจมตีบรรดาประเทศที่กล่าวมาในแถบบอลติก ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกนาโต้ และเจ้าหน้าที่รายนี้ยอมรับว่ามีกำลังพลในพื้นที่ไม่เพียงพอ ตั้งแต่ก่อนรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนแล้ว

"จากการประเมินของเรา พวกเขาไม่ได้อ่อนแอลงถึงขั้นจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงคำประเมินเกี่ยวกับระดับภัยคุกคามของพวกเขาที่มีต่อพันธมิตร" เคสตูติส บูดรีย์ส ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีลิทัวเนียพูดถึงกองกำลังรัสเซีย

บูดรีย์ส กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตัน หลังถูกคุยกับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ว่ายังมีความเป็นไปได้ในระดับต่ำที่รัสเซียจะโจมตีประเทศสมาชิกนาโต้ "แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่เราเห็นในยูเครน และรวมถึงความพยายามดึงเบลารุสเข้าสู่ปฏิบัติการรุกรานทางทหารในยูเครน เป็นสิ่งที่เราไม่อาจสงบจิตสงบใจได้"

เบลารุส ซึ่งปกครองโดยประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก หนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของปูติน ยินยอมให้มอสโกใช้ดินแดนของพวกเขาสำหรับการรุกราน และเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เขาเผยว่ากองกำลังเบลารุสจะประจำการร่วมกับทหารรัสเซีย แต่ไม่ได้พูดอย่างเจาะจงว่าเป็นที่ไหน และยืนกรานว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันตนเอง

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น