เอเอฟพี - ผู้นำอินโดนีเซียสั่งทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยการแข่งขันฟุตบอล หลังมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 174 คน จากเหตุเหยียบกันตายภายหลังการปะทะกันระหว่างแฟนบอลกับตำรวจ และถือเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาทั่วโลก
ตอนแรกนั้นมีการเปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 129 คน แต่ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (2 ต.ค.) รองผู้ว่าการชวาตะวันออกแถลงตัวเลขใหม่ที่อย่างน้อย 174 คน และผู้บาดเจ็บ 180 คน
ระหว่างการแถลงที่ถ่ายทอดทางทีวีในวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ระบุว่า รัฐมนตรีกีฬาและเยาวชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และประธานสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ได้รับคำสั่งให้ประเมินการจัดการแข่งฟันฟุตบอลและกระบวนการรักษาความปลอดภัย
ทางด้านโคฟิฟาห์ อินดาร์ ปาราวันซา ผู้ว่าการชวาตะวันออกประกาศว่า ครอบครัวเหยื่อจะได้รับเงินชดเชย 15 ล้านรูเปียะห์ (980 ดอลลาร์) โดยเป็นเงินจากจังหวัดและคณะผู้สำเร็จราชการท้องถิ่น 10 ล้านรูเปียห์ และ 5 ล้านรูเปียะห์ตามลำดับ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสนามฟุตบอลเมืองมาลัง ทางตะวันออกเมื่อคืนวันเสาร์ (1 ต.ค.) ที่แฟนบอลของสโมสรอาเรมา 3,000 คนกรูกันลงไปในสนามกีฬากันจูรูฮัน หลังจากทีมโปรดแพ้ให้ทีมเปอร์เซบายา สุราบายา ซึ่งเป็นทีมเยือน 3-2 และตำรวจพยายามโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นกลับขึ้นไปบนอัฒจันทร์ แล้วตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาหลังจากมีตำรวจ 2 นายเสียชีวิต
จากการเปิดเผยของตำรวจ เหยื่อจำนวนมากเสียชีวิตจากการถูกเหยียบและขาดอากาศหายใจ ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้สนามกีฬาเผยว่า เหยื่อบางรายได้รับบาดเจ็บที่สมอง และมีเด็กวัย 5 ขวบคนหนึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้
ภาพที่ถ่ายภายในสนามกีฬาเผยให้เห็นว่า ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาจำนวนมากและผู้คนพากันปีนรั้วหนี บางคนช่วยกันแบกผู้บาดเจ็บออกจากที่เกิดเหตุ ส่วนคลิปที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นอีกมุมหนึ่งที่แฟนบอลตะโกนคำหยาบคายใส่ตำรวจที่ถือโล่ควบคุมจลาจลและกระบอง ด้านตำรวจเผยว่า รถที่จอดอยู่ด้านนอกสนามกีฬา 13 คันได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกของตำรวจ 1 คันที่ถูกเผา
รัฐบาลอินโดนีเซียแถลงขอโทษสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้สัญญาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยทาง ไซนุดดิน อามาลี รัฐมนตรีกีฬาและเยาวชน ให้สัมภาษณ์ว่า จะประเมินองค์กรที่จัดการแข่งขันฟุตบอลและการเข้าชมของผู้สนับสนุนทีมฟุตบอล
การก่อความรุนแรงของแฟนบอลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังในอินโดนีเซีย การแข่งขันของทีมที่เป็นคู่อริกันมักกลายเป็นการเผชิญหน้าที่มีผู้เสียชีวิต โดยทีมอาเรมา และเปอร์เซบาบา สุราบายานั้นเป็นศัตรูกันมายาวนาน
แฟนบอลทีมเปอร์เซบาบา สุราบายาไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อตั๋วเข้าชมเกมเนื่องจากกลัวว่า จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตาม มาห์ฟุด เอ็มดี รัฐมนตรีกิจการการเมือง กฎหมาย และความปลอดภัย ระบุว่า ผู้จัดการแข่งขันเพิกเฉยต่อคำแนะนำของทางการให้จัดการแข่งขันตอนบ่ายแทนที่จะเป็นช่วงค่ำ รวมถึงให้พิมพ์ตั๋วออกขายเพียง 38,000 ใบ แต่กลับพิมพ์ออกมาเต็มความจุของสนาม 42,000 ใบและขายหมด
ทางด้านสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย (พีเอสเอสไอ) สั่งระงับการแข่งขันฟุตบอลบีอาร์ไอ ลีกา 1 ซึ่งเป็นลีกสูงสุด 1 สัปดาห์ รวมทั้งห้ามสโมสรเอรีมาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจนสิ้นสุดฤดูกาล และจะส่งทีมสอบสวนไปยังเมืองมาลังเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้น โมชาหมัด อิเรียวาน ประธานพีเอสเอสไอ ยังขอโทษและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเหยื่อและทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ อินโดนีเซียกำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปีในสนามกีฬา 6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งไม่มีสนามกันจูรูฮันรวมอยู่ด้วย
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาฮิลส์โบโรห์ของอังกฤษเมื่อปี 1989 ที่ทำให้แฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิต 97 คน และปี 2012 ที่สนามพอร์ต ซาอิดในอียิปต์ที่มีผู้เสียชีวิต 74 คน และปี 1964 ที่มีผู้เสียชีวิต 320 และบาดเจ็บกว่า 1,000 คนในการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติเปรูกับอาร์เจนตินา ที่สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงลิมาของเปรู