xs
xsm
sm
md
lg

บอลไทย ถ้าไม่รับผิดชอบกัน ก็เอา หมู หมา กา ไก่ มาก็ได้มั้ง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ผมนำเรื่อง “วันทัช ฟุตบอล” (One-touch football) มาแนะนำและรณรงค์ให้นักเตะไทยเปลี่ยนแปลงการเล่นมาเป็นระบบนี้ตั้งแต่เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ยิ่งฟุตบอลสมัยใหม่เน้น เพร้สซิ่ง (Pressing) เข้ากดดันเร็วมาก เมื่อนักเตะได้บอล คู่แข่งก็เข้าถึงทันที ไม่มีเวลาแต่งตัวกันเลย แต่เวลาผ่านมาตั้งนาน ไม่เห็นระบบมี วันทัช ที่พัฒนา แต่ละคนได้บอลแล้วยังต้องคลึง ม้วน เลี้ยงให้เสียเวลา มันจึงไม่ก้าวหน้า ฟุตบอลไทยกลับเสื่อมถอยลงไปอีก มันผิดที่ใครและจะแก้ไขอย่างไรหรือ

“วันทัช ฟุตบอล” หมายถึงการผ่านบอลหรือยิงประตูโดยใช้จังหวะเดียว ไม่ต้องจับบอลไว้กับเท้า หรือมัวแต่เลี้ยง บอลมาอย่างไรก็แปะหรือแปให้เพื่อนได้ทันที ถ้าอยู่ในระยะทำประตูก็ซัดได้เลย ไม่ต้องแต่งตัว ม้วน คลึง ให้เสียเวลา อันนี้บางครั้งจำต้องใช้สัก 2 จังหวะก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่ามันเป็นระบบที่ต้องอาศัยการประสานงาน เล่นกันเป็นทีมมากกว่าการโชว์ลวดลายซะคนเดียว ยิ่งเล่นระบบนี้มากเท่าใด ทักษะในการส่งบอลก็จะยิ่งแม่นยำมากขึ้น

ผมแบ่งปัญหานี้ออกเป็น 4 ระดับ เริ่มที่ตัวนักเตะเอง ความจริงนักเตะไทยไม่ได้บ้าเลี้ยงหรอกครับ เพียงแต่ไม่ได้คิดก่อน ไม่ได้วางแผนก่อน รอให้บอลมาถึงตัวก่อนแล้วค่อยเงยหน้ามองหาเพื่อน จะส่งให้ใครดี ผมอยากจะหยิบยกปรัชญาของ อัลโด ปลาตีนี (Aldo Platini) พ่อของ มีเช็ล ปลาตีนี ตำนานนักเตะฝรั่งเศส เจ้าของฉายา “นาโปเลองลูกหนัง” ที่สอนเคล็ดให้ลูกชายว่า “ เอ็งต้องรู้ก่อนนะว่า จะส่งให้ใคร ก่อนที่เอ็งจะได้รับบอล ” เห็นมั้ยว่า นักเตะก็ต้องเตรียมจัดการกับอนาคตหน้างานให้ดี ยิ่งเพื่อนได้บอลเร็วก็ยิ่งมีเวลานานพอที่จะให้บอลดีๆ นักเตะต้องรู้จักมีความรับผิดชอบต่อทักษะของตนเอง หากยังทำไม่ได้ดีก็ต้องพยายามฝึกฝนในสิ่งที่ตนยังอ่อนด้อย

อาคาเดมี ศูนย์ฝึก โรงเรียน หรือสถาบัน ที่สอนเด็กระดับ 8-16 ปี ต้องเน้นสอนการเล่นระบบ วันทัช และสอนให้คิดล่วงหน้าว่าจะส่งบอลให้ใครก่อนที่จะได้บอล ยิ่งฝึกอย่างนี้มากๆ ลูกบอลก็จะไปถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะส่งบอลหรือยิงประตู เพื่อนๆที่ได้รับบอลก็ไม่ต้องเสียเวลาแต่งให้เชื่องเท้าอีก อาคาเดมี ศูนย์ฝึก โรงเรียน หรือสถาบันนี่แหละที่มีความสำคัญมากกว่าโค้ชหรือผู้จัดการทีมเสียอีก เพราะเป็นตัวจริงที่ฝึกสอนทักษะ ปลูกฝังทัศนะคติในการเล่นให้แก่นักเตะตั้งแต่ยังอายุยังน้อย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า จึงให้ความสำคัญขนาดมีกฎระบุให้สโมสรอาชีพต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่สถาบันที่ฝึกเด็กมาก่อนการเข้าสู่การเป็นนักเตะอาชีพ ในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อทักษะและทัศนคติของนักเตะเต็มๆ หากฝีเท้าห่วยก็ต้องถามว่า ฝึกมากจากที่ไหนกัน

โค้ช หรือ ผู้จัดการทีม ไม่ใช่ผู้ฝึกสอนทักษะให้นักเตะ แต่เป็นผู้เลือกแผนการเล่นเพื่อเอาชนะทีมคู่แข่ง เป็นผู้เลือกหยิบนักเตะที่มีทักษะดี เหมาะที่จะนำมาประกอบเป็นทีมของตนต่างหาก ถ้าแผนการเล่นไม่ได้เรื่อง เลือกนักเตะด้วยความลำเอียงหรือถูกแทรกแซง ความรู้ก็ไม่มี ไม่อาจผสมผสานนักเตะในทีมให้ลงตัวที่เรียกว่า เจ็ล (Gel) ได้ ฝีมือการแก้เกมก็อย่างห่วย มันก็ยากที่จะเก็บชัยชนะมาได้ ถ้าพ่ายแพ้มา โค้ช หรือ ผู้จัดการทีม ก็ต้องรับผิดชอบต่อผลการแข่งขัน

ผู้บริหารทีม หรือ ผู้บริหารสมาคม ต้องกำกับดูแลทางด้านนโยบาย กำหนดแนวทาง จัดสรรพสิ่งในการส่งเสริม สนับสนุน และเป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจเลือกบุคลากรมาทำทีม ถึงแม้ว่าพวกนี้จะอยู่ในฐานะ ผู้กำกับดูแล (Regulator) ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ (Operator) อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าแค่บริหารจัดการให้องค์กรดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย มีรายได้เท่านั้นพอ ผลการแข่งขันของทีมก็เป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดความสามารถของผู้บริหารทีมหรือสมาคมด้วย พวกเขาต้องรับผิดชอบเต็มๆ

วันนี้ ฟุตบอลไทยยังไม่ไปไหน แทนที่จะก้าวข้ามระดับ อาเซี่ยน ไปสู่แถวหน้าของ ทวีปเอเชีย แล้ว แต่กลับซอยเท้าถอยหลังกลับไปอีกหลายก้าวทีเดียว นี่ขนาดมีเสียงเพรียกหา ใครก็ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง คอลัมนิสท์กีฬา ห้าวๆ ห่ามๆ ก็ยังถูกวางชื่อให้เข้ามากุมบังเหียนสมาคมฟุตบอลแทนทีเถอะ ผลการแข่งขันของทีมมันห่วยขนาดนี้ ผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบและพร้อมถอยออกไปได้ทุกเมื่อสิครับ ไม่ทราบจะยึดครอง ปักหลัก อยู่อย่างตู่ ทำมะเขือ ส้มตำ ถั่วตัดอะไร ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น