สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่เจ้าชายคอลิด พระราชโอรสองค์รอง ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
พระราชกฤษฎีกาซึ่งเผยแพร่ผ่านสำนักข่าว SPA ของรัฐบาลซาอุฯ เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ยังระบุให้เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตามเดิม เช่นเดียวกับเจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล-สะอูด, โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน และคอลิด อัล-ฟาลิห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน ตามลำดับ
มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด หรือที่หลายคนเรียกว่าเจ้าชาย MbS ทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากรัฐมนตรีกลาโหมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับว่าทรงเป็น “ผู้ปกครองโดยพฤตินัย” ของราชอาณาจักรที่ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
บทบาทใหม่ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด นับว่าสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติแทนพระองค์มาในอดีต เช่น การเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุฯ ไปเยือนต่างประเทศ หรือเป็นประธานการประชุมซัมมิตต่างๆ ที่ริยาดเป็นเจ้าภาพ
“มกุฎราชกุมารทรงกำกับดูแลกิจการประจำวันของฝ่ายบริหาร ตามที่สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงมีพระบรมราชโองการมอบหมายไว้ ดังนั้น บทบาทใหม่ของพระองค์ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงถือว่าเข้ากับบริบท” เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ในวัย 86 พรรษาทรงประชวรด้วยหลายโรค และเสด็จฯ ไปประทับโรงพยาบาลหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
สังคมซาอุดีอาระเบียพลิกโฉมไปอย่างมากนับตั้งแต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2017 โดยทรงมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซาอุฯ ให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน และยังทรงดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น อนุญาตให้สตรีขับรถ และจำกัดอำนาจของพวกผู้นำทางศาสนา เป็นต้น
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงชี้ว่า อุตสาหกรรมทางทหารของซาอุฯ เวลานี้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นจากระดับ 2% เป็น 15% และทรงมีแผนที่จะยกระดับให้ได้ถึง 50% ภายใต้การบริหารของรัฐมนตรีกลาโหมพระองค์ใหม่
กระนั้นก็ตาม แผนปฏิรูปของเจ้าชายก็มาพร้อมกับปฏิบัติการกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างจากพระองค์ โดยมีนักเคลื่อนไหว นักธุรกิจ และแม้แต่สมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ ถูกจำคุกไปแล้วหลายคน
เหตุการณ์ซึ่งให้ภาพลักษณ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด แปดเปื้อนมากที่สุดในสายตานานาชาติคงจะหนีไม่พ้นกรณีการอุ้มฆ่า “จามาล คาช็อกกี” (Jamal Khashoggi) ผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์ ที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูลของตุรกีเมื่อปี 2018 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกย่ำแย่ลงไปมาก
ที่มา : รอยเตอร์