ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในวันพุธ (21 ก.ย.) เป็นรอบที่ 3 ต่อเนื่องกัน ขณะที่ประธานพาวเวล ลั่นพร้อมใช้ยาแรงต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้อาจต้องแลกด้วยภาวะการเติบโตชะลอตัวและอัตราว่างงานพุ่งขึ้นก็ตาม ความเคลื่อนไหวคราวนี้นอกจากทำวอลล์สตรีทร่วงแรง ยังฉุดตลาดหุ้นเอเชียดิ่งตาม และค่าเงินสกุลต่างๆ อ่อนลงต่อเนื่องเมื่อเทียบดอลลาร์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เอฟโอเอ็มซี) ประกาศในวันพุธภายหลังการประชุม 2 วัน ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเฟด ฟันด์ส เรต ไปอีก 0.75% เป็นการเพิ่มอย่างแรงขนาดนี้รอบที่ 3 ต่อเนื่องกัน และถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 สำหรับปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นตัวนี้อยู่ที่ระดับ 3.0-3.25% ไม่เพียงเท่านั้น เฟดยังแถลงคาดการณ์ด้วยว่าควรขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก
ทั้งนี้ เฟดแสดงความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี จนกดดันอย่างแรงใส่ครอบครัวและธุรกิจอเมริกัน รวมทั้งกลายเป็นภาระทางการเมืองสำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะต้องเผชิญศึกเลือกตั้งกลางเทอมต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง
เจอโรม พาวเวล ประธานของเฟดออกมาแถลงอย่างชัดเจนในวันพุธว่า เฟดจะดำเนินการเชิงรุกต่อเนื่องเพื่อคลี่คลายภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไปแล้ว โดยมุ่งป้องกันไม่ให้สถานการณ์เงินเฟ้อพุ่งสูงจนควบคุมไม่อยู่ซ้ำรอยทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการแข็งกร้าวยิ่ง และตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า เฟดเคลื่อนไหวช้าไปในเรื่องการคุมเงินเฟ้อเวลานี้ พาวเวล แถลงว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะขึ้นดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมเตือนว่า จะยังไม่มีการกลับลำนโยบายในเร็วๆ นี้ แม้บางช่วงบางตอนอาจชะลอจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้น
เขายอมรับว่า การดึงอัตราเงินเฟ้อลงอาจต้องแลกกับอัตราเติบโตชะลอตัวและอัตราว่างงานพุ่งขึ้น แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดงานตอนนี้ถือว่าเข้มแข็ง เพราะมีตำแหน่งงานเปิดรับมากกว่าจำนวนพนักงานที่ต้องการสมัครงาน
เพาเวล คาดหวังว่า การสยบเงินเฟ้อจะสร้างความเจ็บปวดไม่มากมายนัก แต่สำทับว่า หากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไม่หยุดจะเจ็บปวดมากกว่า
สำหรับรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจประจำไตรมาสที่เอฟโอเอ็มซีเผยแพร่ออกมาพร้อมการประกาศขึ้นดอกเบี้ย พยากรณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอเมริกาในปีนี้จะขยับขึ้นแค่ 0.2% แต่จะฟื้นตัวในอัตรา 1.2% ในปีหน้า
เอฟโอเอ็มซียังคาดว่า ในปีนี้จะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีกรวม 1.25% และปีหน้าต้องคงดำเนินนโยบายนี้ต่อไป โดยจะไม่มีการลดดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024
แม้เอฟโอเอ็มซีตั้งข้อสังเกตว่า การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและอัตราว่างงานต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่คาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในเดือนสิงหาคม เป็น 4.4% ในปีหน้าและคงอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดปี 2025
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนระบุว่า จีดีพีอเมริกาอาจจำเป็นต้องติดลบอย่างน้อยในระยะสั้นๆ ในช่วง 6 เดือนแรกในปีหน้า ก่อนที่เงินเฟ้อจะเริ่มสงบลง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ท่ามกลางสงครามยูเครน ที่ซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุดและมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิดในจีน อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ ของเฟดเช่นนี้ เป็นการบีบบังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องขยับเพิ่มดอกเบี้ยตาม ด้วยเหตุผลในการพยุงค่าสกุลเงินตราของพวกตนเอาไว้ และผ่อนคลายปัญหากระแสเงินทุนไหลออก ถึงแม้ประเทศนั้นๆ ไม่ได้มีปัญหาเงินเฟ้อแรงเหมือนกับสหรัฐฯ ก็ตามที โดยที่การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติเหล่านี้อย่างหลีกหนีไม่พ้น
ในเฉพาะหน้า การใช้ยาแรงของเฟดยังทำให้ราคาหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทแดงเถือก โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ตัวของอเมริกาตกลงอย่างน้อย 1.7% เมื่อวันพุธ ทั้งยังฉุดตลาดหุ้นเอเชียไล่ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ฮ่องกง โซล ไทเป สิงคโปร์ จาการ์ตา มะนิลา จนถึงซิดนีย์ร่วงตามในวันถัดมา (22)
ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า เงินเยนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยอยู่ที่ราว 145 เยน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1% ต่อไป
นอกจากนั้น ดอลลาร์ยังแข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบวอนเกาหลีใต้ หยวน ยูโร ปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา
(ที่มา : รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี)