xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันบาทอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ แม้ว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดคาด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูงนั้นกลับเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภาพรวมที่ยังคงเร่งตัวสูงขึ้นเป็นวงกว้าง แม้ว่าราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันนั้นจะเริ่มปรับลดลง นอกจากนี้ ในด้านของตลาดแรงงานนั้น ตัวเลขล่าสุดยังคงบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้อัตราว่างงานเดือน ส.ค. จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาด ในขณะที่ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ 4-10 ก.ค.2565 ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน

สำหรับในระยะข้างหน้า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค.2565 คงขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ความจำเป็นที่เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.75 อาจมีลดลง ส่งผลให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ครั้งละร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมที่เหลือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่เฟดกังวลยังคงไม่แผ่วลง คาดว่าเฟดคงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ส่วนผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ค่าเงินดอลลาร์คาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยให้มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปอย่างน้อยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจน และเฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินในภูมิภาคคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น