xs
xsm
sm
md
lg

เฟดแลกหมัดสกัดเงินเฟ้อขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% กูรูหวั่นเศรษฐกิจอเมริกาหนีไม่พ้นภาวะถดถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% แรงสุดในรอบเกือบ 30 ปี แถมประธานเฟดลั่น พร้อมทำทุกอย่างเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ขณะนี้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ขณะพวกนักวิเคราะห์ชี้ภารกิจนี้อาจต้องแลกด้วยความเจ็บปวดซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง นั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รายงานภาวะเงินเฟ้อประจำเดือนพฤษภาคมในสหรัฐฯ ที่เลวร้ายเกินคาด โดยราคาผู้บริโภคทะยาน 8.6% จากปีที่แล้ว สูงสุดนับจากปี 1981 ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจเมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน “เฟด ฟันด์ส เรต” 0.75% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแรงที่สุดนับจากปี 1994 ยิ่งกว่านั้นเฟดยังเผยว่า พร้อมขึ้นดอกเบี้ยอีกในเดือนหน้า

ทว่า การที่เฟดหวังว่าจะประคองให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% โดยไม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุด อย่างที่เรียกกันว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างนุ่มนวลหรือ “ซอฟต์แลนดิ้ง” นั้น กำลังกลายเป็นงานที่ซับซ้อนและเสี่ยงมากกว่าที่ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดต้องการเห็น เพราะทุกครั้งที่มีการขึ้นดอกเบี้ย ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะสูงขึ้น และผู้ที่ต้องการกู้เงินอาจจะรู้สึกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพงเกินไป ผลคือการกู้เงินและการลงทุนตลอดจนการใช้จ่ายพากันวูบลง รวมทั้งยังฉุดความเชื่อมั่นของผู้คน ตลอดจนถึงการเติบโตของการจ้างงาน และชีพจรเศรษฐกิจโดยรวม

กระนั้น พาวเวลยืนยันในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า ยังมีช่องทางที่จะประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้อยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างนุ่มนวล แม้ว่าจะเป็นงานที่ไม่ง่ายและมีความท้าทายมากขึ้น

ทางด้าน ซิโมนา โมกูกา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสเตท สตรีท โกลบัล แอดไวเซอร์ส แสดงความหวังว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่กำลังจะออกมาต่อๆ ไป จะไม่บีบให้เฟดรู้สึกว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างที่ประกาศไว้ ทั้งนี้เธอคิดว่า ขณะนี้อเมริกามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับ 50-50 ทีเดียว

เฟดนั้นยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะสร้างความเสียหายบางประการ แต่ยังคงคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะยังขยายตัวได้ราว 1.7% แม้ลดฮวบจาก 2.8% ที่คาดไว้เมื่อเดือนมีนาคมก็ตาม นอกจากนั้น เฟดยังคาดว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยของปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3.7%

ในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ พาวเวลยังโต้แย้งเสียงคาดการณ์ที่ว่า จากภารกิจมุ่งปราบปรามอัตราเงินเฟ้อ เฟดจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเขายืนยันว่า เฟดไม่ได้พยายามให้เศรษฐกิจถดถอย

กระนั้น ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกลับบ่งชี้ว่า การควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงลิ่วให้อยู่หมัดนั้น ในที่สุดแล้วอาจต้องใช้อัตราดอกเบี้ยที่ก้าวร้าวและทำลายการเติบโต ซึ่งเท่ากับเป็นการชี้นำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปีนี้ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และอเล็กซ์ โดแมช เพื่อนร่วมงานของเขาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า นับจากปี 1955 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 4% และอัตราว่างงานลดต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 2 ปี

สำหรับตอนนี้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% และเงินเฟ้อแตะ 8% ทุกเดือนที่ผ่านมานับจากเดือนมีนาคม

ภาวะเงินเฟ้อในอเมริกาซึ่งดูเหมือนถูกควบคุมเอาไว้เรื่อยมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 กลับคืนชีพอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวแข็งแกร่งเกินคาด หลังจากซึมยาวในภาวะถดถอยช่วงวิกฤตโรคระบาด การคืนชีพเช่นนี้สร้างความประหลาดใจต่อภาคธุรกิจ และนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนสินค้า การจัดส่งล่าช้า และราคาพุ่งขึ้น

มาตรการกระตุ้นมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดือนมีนาคม 2021 ทั้งที่เศรษฐกิจเริ่มอุ่นเครื่องแล้ว ก็เป็นตัวช่วยเติมพลังให้ภาวะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับการที่เฟดตัดสินใจคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการยืนอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0% อีกทั้งยังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตร ซึ่งใช้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเพื่อนำเศรษฐกิจฝ่าฟันผลกระทบจากโควิด

เพิ่งจะเมื่อ 3 เดือนที่แล้วที่เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ย และเดือนที่แล้ว พาวเวลให้สัญญาว่า จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะเห็นหลักฐานชัดเจนและน่าเชื่อถือว่า เงินเฟ้อสงบลง

เวลาเดียวกัน ปัจจัยที่เคยหนุนการฟื้นตัวขณะนี้หายไปแล้ว มิหนำซ้ำเงินเฟ้อยังบ่อนทำลายอำนาจซื้อของคนอเมริกัน ขณะที่ค่าแรงรายชั่วโมงเฉลี่ยเมื่อปรับตามเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมา จะเท่ากับลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ถึงตอนนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะรีดเค้นเศรษฐกิจหนักขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อบ้านและรถยนต์จะต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น บางคนชะลอการซื้อ และภาคธุรกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังทำให้ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อบริษัทและเศรษฐกิจของอเมริกา เนื่องจากสินค้าอเมริกันจะแพงขึ้นและขายยากขึ้นในต่างแดน ในทางกลับกัน การขึ้นดอกเบี้ยทำให้สินค้านำเข้าสู่อเมริกาถูกลง ความกดดันด้านเงินเฟ้อจึงผ่อนคลายลง

และแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ตลาดแรงงานบูม หนี้ภาคครัวเรือนไม่ได้พุ่งสูงเหมือนช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2007-2009 ทว่า โรเบิร์ต ทิปป์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของพีจีไอเอ็ม ฟิกซ์ อินคัม มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยขณะนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลกันว่าภาวะเงินเฟ้อที่ดื้อดึงขณะนี้อาจกำราบได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแรงเท่านั้น ซึ่งก็จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ

(ที่มา : เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น