เวิลด์แบงก์หั่นแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำหรับปีนี้มาอยู่ที่ 2.9% ลดฮวบจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 4.1% ระบุปัจจัยจากสงครามยูเครนและอื่นๆ พร้อมเตือนอาจเจอภาวะการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 80 ปี หลังเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอย นอกจากนั้น ยังคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น 42% ในปีนี้ และเกือบ 18% สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลังงาน
ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของโลกปี 2022 นี้เอาไว้ที่ 2.9% ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานลู่ทางโอกาสของเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects report) ที่ธนาคารโลกนำออกเผยแพร่วันอังคาร (7 มิ.ย.) เป็นการปรับลดลง 1.2% จากที่ได้พยากรณ์เอาไว้เมื่อเดือนมกราคม และต่ำลงอย่างแรงจากปี 2021 ที่ผ่านมาซึ่งสามารถฟื้นตัวแข็งแกร่งที่ 5.7%
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของปี 2023 และ 2024 ถูกคาดหมายไว้ที่ 3% เท่ากัน
รายงานระบุว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซีย รวมทั้งมาตรการแซงก์ชันมอสโกของตะวันตก ส่งผลให้การค้าขายพลังงานและข้าวสาลีทั่วโลกชะงักงันอย่างรุนแรง ราคาน้ำมันและราคาธัญพืชต่างขึ้นพุ่งพรวด
เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกเตือนว่า สงครามในยูเครน มาตรการล็อกดาวน์ในจีน ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะ stagflation หรือสภาวการณ์ที่อัตราเติบโตทรุดโทรมซึมเซาพร้อมๆ กับที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง กำลังรุมทุบการขยายตัวของเศรษฐกิจ หลายประเทศอาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ยาก
รายงานของเวิลด์แบงก์แจงว่า สงครามกำลังผสมโรงกับความเสียหายจากวิกฤตโรคระบาด ทำให้การชะลอตัวยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่การเติบโตยังอ่อนแอและเงินเฟ้อพุ่งทะยานยาวนาน โดยที่ภาวะเช่นนี้มีศักยภาพจะส่งผลร้ายแรงต่อพวกประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
ธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตลักษณะบางอย่างของช่วงเวลานี้ที่เหมือนกับในทศวรรษ 1970 ซึ่งเกิดภาวการณ์เติบโตชะงักงันพร้อมกับที่เงินเฟ้อทะยานแรง สืบเนื่องจากองค์ประกอบด้านอุปทานที่กระตุ้นราคาน้ำมัน รวมทั้งประเทศต่างๆ มีการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่เป็นเวลายาวนาน
สถานการณ์เช่นนี้ในปัจจุบัน จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และแบงก์ชาติของประเทศอื่นๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากหากยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ อาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หากพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจก็เสี่ยงดันราคาสินค้าให้พุ่งขึ้น และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อจัดการได้ยากขึ้น
แต่ที่ตรงข้ามกับช่วงเวลาดังกล่าวคือ เวลานี้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และสถาบันการเงินชั้นนำมีความแข็งแกร่ง
ธนาคารโลกยังเตือนไม่ให้พยายามต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อด้วยการควบคุมราคาหรือมาตรการจำกัดการส่งออก แต่ควรส่งเสริมการผลิตอย่างเร่งด่วนและหลีกเลี่ยงการจำกัดการค้า
เมื่อแยกเป็นภูมิภาคและประเทศ รายงานล่าสุดของเวิลด์แบงก์ ลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากที่เคยให้ไว้ 3.7% ในเดือนมกราคม และเทียบกับที่ทำได้ 5.7% ในปี 2021
สำหรับ 19 ชาติยุโรปที่ใช้เงินยูโรถูกปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้มาอยู่ที่ 2.5% ในปีนี้ จาก 4.2% ซึ่งคาดไว้เมื่อเดือนมกราคม และจาก 5.4% ที่เคยทำได้เมื่อปีที่แล้ว
ส่วนจีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากอเมริกา ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะลดฮวบจาก 8.1% ในปี 2021 เหลือ 4.3% ในปีนี้ อันเนื่องมาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดในเซี่ยงไฮ้และเมืองอื่นๆ อย่างไรก็ดี ทางการจีนกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อผ่อนคลายผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายนี้
เศรษฐกิจรัสเซียถูกคาดหมายว่า จะหดตัว 11.3% ในปีนี้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะเติบโต 3.4% ในปีนี้ ลดลงจาก 6.6% เมื่อปีที่แล้ว
ธนาคารโลกยังคาดว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น 42% ในปีนี้ และเกือบ 18% สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลังงาน แต่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ นั้นมีแนวโน้มลดลง 8% ในปีหน้า
(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)