xs
xsm
sm
md
lg

เฟดทุ่มสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณใช้ยาแรงต่ออีก 2 รอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ห่วงภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่กำลังเลวร้ายสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขยับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.50% ซึ่งถือว่าแรงที่สุดภายหลังจากปี 2000 พร้อมส่งสัญญาณอาจต้องขยับต่อไปอีกในการประชุม 2 รอบหน้า แต่ยืนยันจะไม่ขึ้นถึง 0.75%

นอกจากนี้ เฟดยังจะเริ่มลดปริมาณการถือครองพันธบัตรนับจากวันที่ 1 เดือนหน้าในอัตราเดือนละ 47,500 ล้านดอลลาร์ ก่อนเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในเดือนที่ 4 เพื่อยุติการใช้มาตรการนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจ

เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อวันพุธ (4 พ.ค.) ว่า ทางเจ้าหน้าที่เฟดเข้าใจความเจ็บปวดทางการเงินของคนอเมริกัน ซึ่งเกิดจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป และย้ำว่า การที่เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงเช่นนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รักษาให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะยั่งยืน และผ่อนคลายความตึงเครียดที่ประชาชนนับล้านครัวเรือนต้องเผชิญ

พาวเวลยังแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจอเมริกามีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เขาชี้ถึงด้านดีของเศรษฐกิจในขณะนี้มีการเปิดรับสมัครงานสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับการขึ้นค่าแรง ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงลงทุนในอุปกรณ์และซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง

ประธานเฟดกล่าวชัดเจนว่า น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเอฟโอเอ็มซี 2 ครั้งหน้าคือเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พร้อมกันนั้น บอกปัดกระแสการคาดเดาโดยยืนยันว่าเฟดไม่ได้กำลังพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75%

ปรากฏว่าการขึ้นดอกเบี้ยและการแจกแจงของเขา มีผลทำให้ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในวันพุธพุ่งขึ้นถึง 930 จุด หรือ 2.8% ซึ่งถือเป็นสถิติขึ้นสูงสุดในวันเดียวที่ดีที่สุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2020

ในคำแถลงของเอฟโอเอ็มซีที่ออกมาภายหลังการประชุมคราวนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า สงครามยูเครนทำให้ความกดดันด้านเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นไปอีก โดยทำให้ราคาน้ำมันและอาหารแพงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิดในจีนยังมีแนวโน้มทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันยิ่งเลวร้ายลง ซึ่งจะทำให้สินค้าแพงขึ้นไปอีก

จากข้อมูลของเฟดนั้น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี โดยได้แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายอย่างแข็งแกร่งของผู้บริโภค ภาวะคอขวดเรื้อรังในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ราคาพลังงานและอาหารพุ่งขึ้นสูงมาก

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุปทานและแรงงานขาดแคลนนั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

กระนั้น พาวเวลแสดงความเชื่อมั่นว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสามารถลดความร้อนแรงของดีมานด์ซึ่งจะช่วยให้เงินเฟ้อชะลอลงไปด้วย

อย่างไรก็ดี ภารกิจของเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อโดยที่ไม่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหดตัว กำลังกลายเป็นงานที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการล็อกดาวน์ในจีนที่อาจทำให้ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย และการที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังเผชิญภาวะราคาพลังงานแพงขึ้นและห่วงโซ่อุปทานชะงักงันภายหลังรัสเซียบุกยูเครน รวมถึงการที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจบ่อนทำลายการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกทางหนึ่ง

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น