ประเพณีการดูแลร่างกายที่ไร้วิญญาณของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ใช่การบรรจุลงโลงแล้วนำไปฝัง แต่เป็นการฌาปนกิจ คือทำการเผา แล้วจะเก็บรักษาอัฐิเถ้ากระดูกไว้ในโกศ โดยอาจจะนำกลับบ้าน หรืออาจนำโกศไปฝังในช่องของเสาหินซึ่งประดิษฐานไว้ในสุสานข้างวัด ซึ่งมักจะอยู่ห่างไกลไปทางตามชานเมือง ปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นคือ คู่สมรสของผู้ตาย หรือลูกหลานญาติสนิทของผู้ตายต้องแบกค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อีกทั้งมีความไม่สะดวกและไม่มีเวลาจะเดินทางไปเยี่ยมคารวะ
ปัญหาเหล่านี้หมดสิ้นไป ด้วยสุสานไฮเทคบนอาคารสูงสง่ากลางเมือง โดยมีพระสงฆ์ดูแลในด้านพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาอย่างครบครัน เพื่อให้ผู้ซึ่งยังมีลมหายใจไม่ต้องเป็นห่วง เพราะผู้วายชนม์ผู้เป็นที่รักนั้นได้พักผ่อนอย่างสบายและปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้ายอย่างแน่นอน
ในการนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมายอมรับการฉีกออกจากแนวปฏิบัติตามประเพณีนิยมในเรื่องการฝังเถ้ากระดูกและการคารวะผู้ที่จากไป โดยพร้อมที่จะไม่ใช้ป่าช้าแบบดั้งเดิม และหันไปใช้บริการสุสานอันทันสมัยไฮเทค ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เอื้อแก่วิถีชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี
เอเอฟพีนำเสนอรายงานไว้อย่างละเอียด
คุณนายแม่หม้ายมาซาโย อิซูรูกิ สงบใจสบายๆ สแกนไอดีการ์ด แล้วขึ้นลิฟต์ไปชั้น 6 ของอาคารอันงามสง่าทันสมัยในกรุงโตเกียวซึ่งมีห้องคารวะอัฐิผู้ล่วงลับอยู่บนฟลอร์จำนวนมากถึง 10 ห้อง เธอก้าวเข้าสู่ด้านในของห้องหนึ่ง และยืนรอตรงพื้นที่หน้าห้องคารวะ รอให้บานประตูไม้แสนสวยเลื่อนแยกออกจากกัน
ในระหว่างที่คุณนายอิซูรูกิ แม่หม้ายวัย 60 กะรัต รออยู่นั้น แขนหุ่นยนต์ของระบบขนย้ายสิ่งของอัตโนมัติซึ่งอยู่ด้านหลังกำแพงห้องคารวะ ทำการเคลื่อนตัวไปยังซีกอาคารที่เป็นช่องเก็บกล่องบรรจุโกศที่เรียกกันว่า “ซุชิ” ยกกล่องซุชิซึ่งมีรูปทรงสีสันสง่างามออกมา และนำส่งกล่องซุชิไปที่ช่องวาง ซึ่งเจาะไว้ตรงกำแพงของห้องคารวะโดยมีขนาดพอดีกับกล่องและมีกรอบประกบช่องทาสีเดียวกับกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวางกล่องซุชิแล้ว ทุกอย่างจะเป๊ะมาก ผู้มาคารวะจะมองไม่เห็นช่องว่างระหว่างกรอบของช่องกับตัวกล่องซุชิเลย
เมื่อทุกสิ่งเสร็จเรียบร้อยภายในไม่กี่วินาที บานประตูไม้แสนสวยก็เลื่อนแยกออกจากกันอย่างนุ่มนวลละม้ายบานประตูลิฟต์ในโรงแรมห้าดาว เปิดให้เห็นโต๊ะบูชาทำด้วยหินสีเข้มขรึมซึ่งตั้งชิดกำแพงห้องและอยู่ด้านล่างของกล่องซุชิซึ่งภายในมีโกศบรรจุอัฐิเถ้ากระดูกของคุณโกะ สามีผู้ล่วงลับของคุณนายอิซูรูกิ
ก่อนที่คุณนายอิซูรูกิ จะก้าวเข้าไป เธอจิ้มสามสี่จุดบนจอแท็บเล็ตที่ติดตั้งบนข้างฝาของช่องทางเข้าออก ภาพหล่อเหลามาดแมนของคุณสามีปรากฏบนจอ ยืนยันว่าอัฐิในกล่องซุชินั้นเป็นของบุคคลที่เธอออเดอร์ไปถูกต้องแน่นอน
แวะหากัน ทักทายกันสะดวกง่ายดาย มาได้ทุกวัน
คุณนายอิซูรูกิ คารวะอัฐิเถ้ากระดูกของสามีอย่างสบายใจ เพราะได้อยู่ในห้องหับที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าบรรยากาศที่ป่าช้า และกล่องซุชิที่ปรากฏให้เห็นใกล้ๆ ก็ให้ความรู้สึกค่อนข้างแนบชิดจิตใจมากกว่าการคารวะที่ป่าช้า ทั้งนี้ คุณลักษณ์ที่ขาดหายไปนั้น ได้แก่ ท้องฟ้า ก้อนเมฆ สายลม ต้นไม้ใบหญ้า ก้อนหิน ผืนแผ่นดิน และกลิ่นหอมของธรรมชาติ
“ตอนแรกนะคะ ดิฉันคิดว่าสถานที่ทันสมัยอย่างนี้จะให้ความรู้สึกเยือกเย็นอ้างว้าง และคาดไว้ว่าดิฉันคงจะชอบไปเยี่ยมหลุมศพที่ฝังอยู่กับแผ่นดินมากกว่า” คุณแม่หม้ายกล่าวกับนักข่าวเอเอฟพีอย่างนั้น และบอกว่า
“ตอนนี้ดิฉันรู้สึกชอบใจว่าสามีอยู่ในสถานที่ใกล้ๆ ซึ่งดิฉันสามารถแวะไปหาไปสวดมนต์ให้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แบบนี้ดีกว่าที่จะต้องไปป่าช้าของตระกูล ซึ่งไกลและไม่ค่อยสะดวก และทำให้ดิฉันไม่ค่อยได้แวะไปน่ะค่ะ”
ป่าช้าของหลุมศพประจำครอบครัวคุณนายอิซูรูกิ เป็นสไตล์ดั้งเดิม และตั้งอยู่ในท้องถิ่นชานกรุงโตเกียว ซึ่งหมายถึงว่าการเดินทางไปที่นั่นต้องโดยสารรถไฟออกจากโตเกียวไป 2 ชั่วโมง ขณะที่การเดินทางมาสุสานคุรามาเอะ-เรียวเอน อันสุดยอดแห่งไฮเทคโนโลยีในกลางกรุงแห่งนี้ จะสะดวกรวดเร็วกว่ามาก โดยคุณนายสามารถขึ้นรถเมล์จากหน้าบ้านมาถึงได้ในเวลาอันสั้น และหลังเลิกงานก็แวะเข้าไปทักทายสามี ก่อนจะกลับเข้าบ้าน
ประเพณีนิยมของญี่ปุ่น เถ้ากระดูกที่เหลือจากฌาปนกิจมักจะเก็บรักษาไว้ที่ป่าช้าของตระกูล ซึ่งสืบทอดต่อช่วงกันมาหลายๆ ชั่วอายุ โดยส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของบุตรชายคนโตของตระกูลที่จะคอยดูแล
แต่ปัญหามีอยู่ว่าโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นนั้นเป็นสังคมสูงวัย สัดส่วนของคนรุ่นใหม่อยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างจำนวนหลุมศพใหม่ๆ ที่ต้องดูแล กับจำนวนคนหนุ่มสาวที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
ยิ่งกว่านั้น ชีวิตของสังคมญี่ปุ่นทำให้ครอบครัวต่างๆ ทยอยกันย้ายถิ่นไปหาโอกาสทางการงาน ซึ่งทำให้ห่างไกลจากหลุมศพของบรรพบุรุษ ในเวลาเดียวกันผู้เฒ่ามากมายไม่มีบุตรชายที่จะมารับผิดชอบดูแลป่าช้า
สุสานไฮเทคคือสไตล์ใหม่ของชีวิตยุคใหม่
หลวงพ่อโตโมฮีโระ ฮีโระเสะ ซึ่งประจำอยู่ที่วัดชินเกียวจิ ย่านชานกรุงโดยเป็นวัดที่รับผิดชอบดูแลสุสานไฮเทคคุรามาเอะ-เรียวเอนแห่งนี้ บอกว่าที่วัดมีป่าช้าดั้งเดิม และที่นั่นรองรับหลุมศพอยู่ประมาณ 300 หลุม
“แต่ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นหลุมศพที่ไม่มีใครเข้าไปดูแลแล้ว” หลวงพ่อกล่าวกับเอเอฟพี
ปัญหาแบบนี้เกิดกับสุสานต่างๆ ของแทบจะทุกวัด ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา หลายๆ วัดจึงทำการสร้างอาคารเพื่อให้บริการสุสานไฮเทคภายในอาคารกันเป็นจำนวนมาก โดยเป็นบริการเก็บรักษาอัฐิเถ้ากระดูกไว้ให้แบบมีกำหนดเวลาชัดเจน ส่วนใหญ่คือไม่เกิน 3 ทศวรรษ
ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการกำหนดว่าเมื่อพ้นช่วงเวลาแล้ว กล่องอัฐิเถ้ากระดูกจะถูกส่งไปจัดเก็บแบบรวมกลุ่ม โดยวัดจะจัดทำแผ่นข้อมูลของอัฐิแต่ละราย ซึ่งจะสลักชื่อและคิวอาร์โค้ดไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ญาติได้มีเครื่องเชื่อมโยงไปถึงผู้วายชนม์ นอกจากนั้น พระสงฆ์ของวัดจะคอยสวดมนต์ให้พรแก่วิญญาณของอัฐิเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ในสุสานไฮเทค คุรามาเอะ-เรียวเอน ได้มีการจัดเก็บโกศในลักษณะแบบคลังสินค้า แต่ละกล่องซุชิที่บรรจุโกศจะถูกเก็บในช่อง ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้ทั้งสิ้น 7,000 กล่อง โดยแต่ละกล่องจะใส่โกศไว้ 2 อัน
หลวงพ่อฮีโรเซะเล่าว่า ได้ตัดสินใจเริ่มสร้างสถานที่เก็บรักษาอัฐิเถ้ากระดูกแบบประหยัดพื้นที่ ตั้งแต่เมื่อวัดเผชิญกับภัยแผ่นดินไหวปี 2011 และได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ทั้งนี้ หลวงพ่อรู้สึกว่าการสร้างอาคารขึ้นใหม่ให้รวมทุกองคาพยพไว้ในอาคาร ทั้งส่วนของวัด ทั้งส่วนของกุฏิพระ และทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่สุสาน จะช่วยชุบชูชีวิตของวัดซึ่งเป็นศาสนสถานโบราณนับตั้งแต่ปี 1608 กันเลยทีเดียว
“แนวทางแบบนี้คือการเสนอวิถีใหม่ให้แก่สาธุชน ซึ่งพบว่าครอบครัวต่างๆ จำนวนมหาศาลรู้สึกว่าการเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพนั้นง่ายขึ้นสะดวกขึ้น” หลวงพ่อบอกอย่างนั้น
ความสำเร็จของวิถีใหม่แห่งสุสานไฮเทคเป็นไปได้ด้วยระบบเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่พัฒนาโดยบริษัทไดฟุกุ ซึ่งปกติเป็นผู้ผลิตระบบคลังสินค้า ระบบขนย้าย และระบบเบิกสินค้าออกจากคลังอย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยจัดทำให้แก่โรงงานและธุรกิจคลังสินค้าในทุกภูมิภาค
“บริษัทของเราสร้างระบบปฏิบัติการสถานเก็บรักษาอัฐิเถ้ากระดูกแบบสุสานไฮเทคไปแล้วประมาณ 60 แห่งทั่วญี่ปุ่น” ผู้จัดการไฮเดโนบุ ชินนากะ ของไดฟุกุ ให้ข้อมูลดังกล่าวแก่เอเอฟพี
สัญญาจ้างรายแรกเข้าสู่บริษัทในทศวรรษ 1990 และหลายปีมานี้ ตลาดต่างๆ ในเอเชียแสดงความสนใจเข้าไปด้วย
วิถีใหม่แบบสุสานไฮเทคมาในรูปแบบที่ให้ทั้งความอบอุ่นใจและความประหยัดเงิน
สถานที่อันเป็นสุสานไฮเทคอันทันสมัย มิได้เพียงแค่จะมอบความสะดวกรวดเร็วแก่สาธุชน หากยังช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมหาศาล ทั้งนี้ อัตราค่าบริการที่จัดให้โดยวัดชินเกียวจิ มีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 230,000 บาทต่อหนึ่งโกศ ซึ่งเป็นเพียงครึ่งเดียวของค่าใช้จ่ายที่หลุมฝังลงแผ่นดินแบบประเพณีนิยม ตามข้อมูลของบริษัทคามาคูระ ชินโสะ ซึ่งให้บริการเชื่อมโยงลูกค้าไปยังสุสานต่างๆ
สำหรับวัดอื่นๆ ก็หันมาให้บริการสุสานไฮเทคกันหลากหลายแห่ง โดยมักจะมีพื้นที่สุสานไม่ใหญ่โตมากพอที่จะคุ้มทุนหากนำระบบจักรกลอัตโนมัติเข้าไปใช้ ดังนั้น จะนำนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีอันน่าประทับใจอื่นๆ มาเชื่อมโยงให้สมาชิกครอบครัวได้ต่อสายดวงใจไปถึงญาติผู้ล่วงลับ
ณ วัดโคโคคุจิ ซึ่งตั้งอยู่ในมุมสงบของย่านชอปปิ้งชินจุกุ และดูแลขวัญและกำลังใจของชาวโตเกียวมาเนิ่นนานนับย้อนไปได้ตั้งแต่ปี 1630 ก็ได้สรรค์สร้างสุสานไฮเทคมาให้สาธุชนได้เยี่ยมเยือนคารวะผู้ตายด้วยเทคโนโลยีอันงดงาม สงบ สง่า ที่ไม่เหมือนใคร ได้แก่ สุสานรูริเดน
สุสานรูริเดน ของวัดโคโคคุจิปรากฏเป็นอาคารชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่นร่วมสมัยรูปทรงแปดเหลี่ยม มีกำแพงเจาะเป็นช่องๆ ที่เรียกกันว่าโคลัมบาเรียม โดยเจาะช่องเรียงราย 20 แถวแนวตั้ง x 20 แถวแนวนอน ละลานตาจากเพดานจดพื้น รวมจำนวนทั้งหลังได้ 2,048 ช่อง แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งสลักขึ้นมาด้วยแก้วคริสตัลอย่างงดงามในขนาดกะทัดรัด ช่องละ 1 องค์
ในการนี้ แต่ละช่องที่จัดวางพระพุทธรูปนั้น แท้จริงคือลิ้นชักไม้แสนสวย โดยวางรูปปั้นพระพุทธเจ้าไว้ด้านหน้า เมื่อกดปุ่มอิเล็กทรอนิกส์ให้ลิ้นชักเลื่อนออกมา จะพบกล่องซุชิบรรจุอัฐิเถ้ากระดูกวางอยู่ในลิ้นชัก
ดังนั้น วิญญาณที่เกี่ยวพันอยู่กับอัฐิจึงมีพระพุทธรูปเป็นของตนเอง ผู้จะทรงให้พรและปกป้องเขาให้ปลอดพ้นจากสิ่งชั่วร้าย สงบสบายอยู่ในพระพุทธคุณ
เมื่อบุคคลในครอบครัวและญาติมิตรมาเยี่ยมคารวะ ก็จะนำบัตรไปแตะเปิดประตูที่เครื่องสแกนหน้าประตูทางเข้า ครั้นเดินผ่านประตูไปอยู่ภายในห้องสุสานแล้ว จึงใช้บัตรใบเดิมแตะสแกนไอดี หรือพิมพ์ชื่อ-นามสกุล หลังจากนั้น รูปปั้นพระพุทธเจ้าที่ประทับแนบชิดอยู่กับอัฐิของบุคคลนั้นๆ จะสว่างเรืองรองเป็นแสงสีขาวโดดเด่นขึ้นภายในห้องอันครึ้มสลัวซึ่งให้ความรู้สึกสงบสันโดษ
โดยปกตินั้น วัดจะให้พระพุทธรูปทั้งหมดปรากฏเรืองแสงตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแสดงแสงสีจะถูกออกแบบให้แสดงเป็นสีต่างๆ และเป็นเฉดต่างๆ แลดูสงบงดงาม เกิดเป็นบรรยากาศอันราบคาบมั่นคงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจ
ผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของหลวงพ่อทาอิจุน ยาจิมา ซึ่งมีคณะศิลปินและทีมวิศวกรมาเนรมิตให้
หลวงพ่อยาจิมา ผู้ประจำอยู่ที่วัดโคโคคุจิ อธิบายแก่นักข่าวเอเอฟพีว่า การจัดแสดงเหล่านี้มุ่งเพื่อให้สาธุชนทุกคนทราบว่าพวกเราล้วนมีพระพุทธเจ้ามากมายห้อมล้อมอยู่ และเมื่อพวกเราหมดกรรมพ้นจากโลกแล้ว ทุกคนจะได้แนบชิดอยู่กับพระพุทธเจ้าในชีวิตหลังความตาย
ทั้งนี้ การไว้อาลัยและการคารวะผู้ตายก็ยังเป็นไปในวิถีประเพณีนิยม แม้รูปทรงของสุสานจะปรับให้ทันสมัยและกะทัดรัดมากขึ้น หลวงพ่อบอกอย่างนั้น ได้แก่ ภายในอาคารมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับเป็นประธาน ณ สองฝั่งกำแพง มีเสียงสวดมนต์ ผู้มาคารวะทำการสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แล้วไปยืนหน้าอัฐิ วางช่อดอกไม้ที่พื้นหินใต้ช่องพระพุทธรูปของญาติผู้ล่วงลับ แล้วทำการสวดมนต์ของตนเอง สิ่งที่ขาดไปคือ ไม่มีการจุดธูปภายในอาคาร
“ลูกหลานญี่ปุ่นควรจะหมั่นดูแลหลุมศพและสวดมนต์แด่ดวงวิญญาณของคุณพ่อคุณแม่และบรรพบุรุษ ... แต่แน่ล่ะ ในชีวิตจริงของบางคนนั้นทำไม่ได้จริงๆ” หลวงพ่อกล่าว
“หลวงพ่ออยากจะบอกว่า คนเราควรจะได้พักผ่อนในสัปปายะอันอบอุ่นหัวใจ และที่นี่คือคำตอบ” หลวงพ่อยาจิมาพูดอย่างนั้น
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เอเอฟพี Okinawa.stripes.com Atlasobscura.com)