xs
xsm
sm
md
lg

กูรูเสียงแตก ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ สไตล์อังกฤษ เสี่ยงไปหรือไม่หลังเคสใหม่ทะยานต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) ผู้คนซึ่งจำนวนมากน่าจะเป็นพนักงาน เดินข้ามสะพานลอนดอนบริดจ์ มุ่งหน้าไปยังย่านศูนย์กลางทางการเงิน “ซิตี้ออฟลอนดอน” ระหว่างช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2022 ทั้งนี้ คนจำนวนมากในอังกฤษแล้วดูเหมือนโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ยุติลงแล้ว โดยรัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อสกัดโรคไปแทบหมดเกลี้ยง อย่างไรก็ดี ในทางเป็นจริงแล้วการระบาดกำลังเพิ่มสูงปรี๊ดขึ้นมาอีกครั้ง
สำหรับผู้คนจำนวนมากมายในอังกฤษ วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะจบลงแล้ว เพราะทั้งคำสั่งสวมหน้ากากป้องกัน และการปูพรมรณรงค์ตรวจโควิดฟรี กลายเป็นอดีตเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนั้น ยังเป็นครั้งแรกนับจากฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ที่ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้โดยไม่ต้องตรวจโควิด หรือกรอกแบบฟอร์มยาวเหยียด

ความรู้สึกถึงอิสระเสรีอบอวลไปทั่ว แม้ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในอังกฤษกลับพุ่งขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว จากการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอ.2 ที่ทำให้อาการป่วยเบาลงแต่ระบาดได้ง่ายขึ้น และกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วยุโรป อเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ

สถานการณ์เช่นนี้ในอังกฤษ อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศอื่นๆ ซึ่งเดินหน้าผ่อนคลายข้อจำกัดเข้มงวดต่างๆ ในการสกัดโควิดเช่นเดียวกัน

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสและเยอรมนี พบยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานทำนองเดียวกับอังกฤษ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาลทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสไต่สูงขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันยังต่ำกว่าช่วงที่โควิดระบาดแรกๆ ก็ตาม

สำหรับที่อเมริกา ประชาชนจำนวนมากขึ้นใช้วิธีตรวจโควิดเองที่บ้าน ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการจึงมีแนวโน้มว่าอาจต่ำกว่าความเป็นจริงมาก น่าสังเกตว่าในบรรดาผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ในขณะนี้มีพวกนักแสดงและนักการเมืองที่ต้องตรวจโควิดกันเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นต้นว่า แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้ว่าการของรัฐนิวเจอร์ซีย์ และของรัฐคอนเนตทิคัต พวกนักแสดงละครบรอดเวย์ ตลอดจนนักแสดงคาบาเรต์

อังกฤษถูกพิจารณาว่าโดดเด่นยิ่งกว่าชาติยุโรปอื่นๆ สืบเนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ประกาศยกเลิกพวกนโยบายบรรเทาสถานการณ์การระบาด ซึ่งรวมถึงการบังคับกักตัวผู้ที่ติดเชื้อ

รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน นั้น มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะปฏิบัติตามแผนการ “อยู่ร่วมกับโควิด” ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ว่า อังกฤษสามารถรับมือกับวิกฤตโรคระบาดได้ดีหรือยัง

นักวิทยาศาสตร์บางคนสนับสนุนว่า ขณะนี้เป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมแล้วในการยอมรับมาตรการ “อยู่ร่วมกับโควิด” ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าโควิดจะต้องทำให้เกิดการชะงักงันและการเสียชีวิตในระดับหนึ่ง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาดนั่นแหละ และดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการสกัดป้องกันการระบาดอย่างใหญ่โตมากมายเป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตทางเศรษฐกิจ

ทว่าพวกนักวิจัยคนอื่นๆ เชื่อว่า รัฐบาลอังกฤษยกเลิกมาตรการจำกัดควบคุมอย่างใจร้อนเกินไป พวกเขาเตือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาลจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากประชากรกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงสุดที่จะป่วยหนักจากโควิด-19 นั้น ขณะนี้ยังคงกำลังติดโควิดกันมากขึ้น แม้เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนสูงก็ตาม

สตีเฟน โพวิส ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ สำทับว่า โรงพยาบาลต่างๆ มีหวังต้องรับภาระหนักอีกครั้ง ทั้งจากการดูแลผู้ป่วยและการที่เจ้าหน้าที่จำนวนมากติดโควิดเสียเอง

ขณะที่ สตีเฟน กริฟฟิน อาจารย์ด้านแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยลีดส์ ขานรับว่า การยอมรับอันตรายมากมายในระดับนี้แบบปิดหูปิดตาตัวเอง ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกับโควิด แต่น่าจะเป็นตรงกันข้ามมากกว่า กล่าวคือถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนที่เพียงพอ ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ การสวมหน้ากาก การกักตัว และการตรวจโควิดแล้ว สิ่งที่อังกฤษต้องอยู่ร่วมอย่างยาวนานคือ ภาวะสะดุดติดขัด เชื้อโรค และความตาย

กระนั้น นักวิจัยบางคนดูเหมือนยังคงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลจอห์นสัน เช่น พอล ฮันเตอร์ อาจารย์ด้านแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ที่บอกว่า แม้อังกฤษยังไม่ถึงจุดที่โควิดจะมีอันตรายน้อยที่สุด แต่ถือว่าผ่านช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และหลังจากที่อัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูง การคงมาตรการจำกัดเข้มงวด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม อาจมีความจำเป็นน้อยลง เนื่องจากโดยตัวมันเองไม่ได้ช่วยในการป้องกันอะไรนัก หากเป็นการชะลอการแพร่เชื้อมากกว่า

สำนักงานสถิติของทางการอังกฤษประเมินว่า เมื่อถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม ประชาชนเกือบ 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 13 ของประชากรทั้งหมด ติดโควิด ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดที่เคยรายงานมา

ขณะเดียวกัน รายงานการศึกษาวิจัย REACT ของลอนดอนส์ อิมพีเรียล คอลเลจ ระบุว่า ข้อมูลที่พบแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อของอังกฤษในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงกว่าช่วงเดือนมกราคมที่โอมิครอนระบาดสูงสุดระลอกแรกถึง 40%

อัตราการติดเชื้อดังกล่าวถือว่าสูงมากกระทั่งสายการบินหลายแห่งต้องยกเลิกเที่ยวบินระหว่างเทศกาลวันหยุดอีสเตอร์ 2 สัปดาห์ของปีนี้ ที่ปกติแล้วจะมีผู้โดยสารแน่นขนัด เนื่องจากพนักงานจำนวนมากพากันลาป่วย

ฝรั่งเศสและเยอรมนีเวลานี้กำลังเผชิญการระบาดมากขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปพากันผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสตรวจพบผู้ติดเชื้อวันละกว่า 100,000 คน แม้จำนวนการตรวจโควิดลดลงไปอย่างมาก ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยโควิดในแผนกผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

รัฐบาลของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ที่กระตือรือร้นสนับสนุนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (10) ที่ผ่านมา ไม่พูดถึงมาตรการใหม่ๆ ในการสกัดโควิดแต่อย่างใด

ส่วนที่เยอรมนี ระดับการระบาดลดลงจากช่วงพีกก่อนหน้านี้ กระนั้น คาร์ล เลาเตอร์บัค รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็เพิกถอนการตัดสินใจยุติการบังคับกักตัวผู้ติดเชื้อ ทั้งที่เพิ่งประกาศออกไปแค่ 2 วัน เขาแก้ต่างว่า แผนการดังกล่าวอาจเป็นการส่งสัญญาณ “ผิดพลาดอย่างมหันต์” ว่า โรคระบาดใหญ่จบลงแล้ว และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีอันตรายน้อยกว่าที่ตั้งสมมติฐานก่อนหน้านี้

สำหรับที่อเมริกา การระบาดในมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ทำให้ต้องมีการรื้อฟื้นข้อกำหนดสวมหน้ากากกลับมาบังคับใช้ในสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 2 แห่ง ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่จำนวนมากเที่ยวหาสถานที่สำหรับกักตัวกันให้วุ่น

ทางภาคพื้นยุโรปนั้น เวลานี้มีเพียงสเปนและสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้นที่ร่วมขบวนกับอังกฤษในการษยกเลิกคำสั่งกักตัว อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับผู้ติดเชื้อบางกลุ่ม

แต่หลายประเทศในยุโรป ได้ผ่อนคลายแนวทางการปูพรมรณรงค์ตรวจหาโควิด จึงทำให้รับรู้สถานการณ์การระบาดที่แท้จริงได้ยากขึ้น ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของอังกฤษในการยุติการแจกจ่ายชุดตรวจฟรีถึงบ้านตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

จูเลียน ถัง นักไวรัสวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ในอังกฤษ กล่าวว่า แม้โปรแกรมการเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญในการติดตามตรวจสอบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ และการปรับปรุงวัคซีน แต่หลายประเทศรับมือไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องมีมาตรการจำกัดหรือการปูพรมตรวจแต่อย่างใด

เขาบอกว่า ในที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นและโรคตามฤดูกาลเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่มากขึ้นๆ ดังนั้น สำหรับเขาแล้ว การอยู่ร่วมกับโควิดควรเป็นการเลียนแบบการอยู่ร่วมกับไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม รวินทรา คุปตะ นักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เตือนว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิดยังสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลมาก อีกทั้งทำให้มีอาการป่วยหนักกว่า ดังนั้น เขาจึงสนับสนุนการผ่อนคลายมาตรการจำกัดอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า และทิ้งท้ายว่า ไม่มีเหตุผลจะเชื่อได้ว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ จะไม่ระบาดง่ายขึ้นและรุนแรงขึ้น

(ที่มา : เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น