กลุ่มสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ 6 คน เดินทางถึงไต้หวันเมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ในการเยือน 2 วันที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน ความเคลื่อนไหวที่แน่นอนว่ามันโหมกระพือความโกรธกริ้วจากจีน
สถาบันอเมริกาในไต้หวัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนสถานทูตโดยพฤตินัยของสหรัฐฯ ไทเป ยืนยันเรื่องนี้ผ่านถ้อยแถลงว่า "คณะผู้แทนจากสภาคองเกรสจะพบปะกับผู้นำระดับสูงของไต้หวัน เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน ความมั่นคงของภูมิภาคและประเด็นสำคัญอื่นๆ แห่งผลประโยชน์ร่วมกัน"
สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา แต่เป็นผู้สนับสนุนระหว่างประเทศสำคัญที่สุด และเป็นผูุ้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของไทเป
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า คณะผู้แทนเหล่านี้เป็นกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสที่มาจากทั้ง 2 พรรค ในนั้นรวมถึง บ็อบ เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา และลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน เดินทางถึงไทเปในวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) ด้วยเครื่องบินลำหนึ่งของกองทัพอากาศ โดยมี โจเซฟ วู รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ให้การต้อนรับ
ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน จะพบปะกับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เหล่านี้ในวันศุกร์ (15 เม.ย.)
โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุว่า การเดินทางมาเยือนของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ และเน้นย้ำว่า ไทเปจะเดินหน้าทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ ความรุ่งเรือง และการพัฒนาของโลกและภูมิภาค"
การเดินทางเยือนครั้งนี้สร้างความโกรธเคืองแก่จีน โดย จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เน้นย้ำว่า "ปักกิ่งคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการรูปแบบใดก็ตาม ระหว่างสหรัฐฯ และมณฑลไต้หวัน"
"สมาชิกสภาคองเกรสควรปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลสหรัฐฯ ฝ่ายสหรัฐฯ ควรยึดถือในหลักการจีนเดียว และแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ หยุดติดต่ออย่างเป็นทางการกับไต้หวัน และหลีกเลี่ยงในการมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่อันตราย" ลี่เจียน กล่าว
เขาเตือนว่า จีน จะเดินหน้าใช้มาตรการที่แข็งกร้าวในการปกป้องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของพวกเขา
นับตั้งแต่ปี 1949 ไต้หวันเป็นเอกราชโดยพฤตินัยจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองของจีน หลบหนีไปยังเกาะดังกล่าว แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง อย่างไรก็ตาม จีน มอง ไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเสมอมา และมองไต้หวันในฐานะมณฑลที่แยกตัวออกไป
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จีน จะไม่ลังเลใช้กำลังกับไต้หวัน หากเกาะที่มีประชากร 25 ล้านคนแห่งนี้ ตัดความสัมพันธ์กับปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จีนอยากใช้แนวทางสันติวิธีมากกว่า
(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์)