ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียระบุในวันอังคาร (5 เม.ย.) ว่า มอสโกจะเริ่ม “ควบคุม” การส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศที่ “ไม่เป็นมิตร” หลังจากที่ชาติตะวันตกงัดมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซียอย่างรอบด้านเพื่อตอบโต้การส่งทหารรุกรานยูเครน
ปูติน เผยต่อที่ประชุมด้านการเกษตรว่า “ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ปีนี้เราเองจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการส่งเสบียงไปยังต่างประเทศ และต้องควบคุมการส่งออกไปยังกลุ่มชาติที่ไม่เป็นมิตรต่อเราอย่างชัดเจน”
ผู้นำรัสเซียยืนยันว่า กำลังการผลิตอาหารของรัสเซีย “เพียงพอ” ต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ และขอให้เจ้าหน้าที่เร่งผลิตอาหารเพื่อทดแทนการนำเข้า
“เราต้องกำหนดเป้าหมายทดแทนการนำเข้าที่ชัดเจน และทำให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้” ปูติน กล่าว
ผู้นำหมีขาวยังอ้างถึงศักยภาพของรัสเซียทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ และย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการ “ลดผลกระทบเชิงลบจากภายนอก” สำหรับประชาชนชาวรัสเซีย ซึ่งจะต้องสามารถเข้าถึง “ผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอาหารจำพวกปลาต่างๆ”
“นี่คือภารกิจสำคัญสำหรับปีนี้”
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและชาติที่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าต่างได้รับผลกระทบหนักจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก
รัสเซียยังเป็นชาติผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ ดังนั้นมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการคมนาคมขนส่งที่นานาชาติใช้กับมอสโกจึงส่งผลกระทบกระเทือนถึงการผลิตสินค้าเกษตรในภูมิภาคอื่นๆ และยังกระตุ้นให้ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น
มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกทำให้รัสเซียต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 แต่รัฐบาลมอสโกย้ำว่า ผลกระทบต่อ “ทั่วโลก” นั้นรุนแรงยิ่งกว่า
ผู้นำเครมลินเตือนว่า ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงบวกกับปัญหาขาดแคลนปุ๋ยจะทำให้ชาติตะวันตกต้อง “พิมพ์แบงก์เพิ่ม” เพื่อกว้านซื้อเสบียงอาหาร ซึ่งปรากฏการณ์นี้อาจจะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารในกลุ่มประเทศยากจน
“สิ่งที่พวกเขาทำจะยิ่งกระพือปัญหาขาดแคลนอาหารในภูมิภาคที่ยากจนของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันจะทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ๆ และดันราคาอาหารให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก” ปูติน กล่าว
ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์