xs
xsm
sm
md
lg

‘ทำเนียบขาว’ ประกาศแซงก์ชัน ‘ลูกสาว 2 คนของปูติน’ ขณะรัสเซียโวย ‘ถูกปั่นข่าวสังหารหมู่ที่เมืองบูชา’ หลัง ‘ยูเครน’ อ่อนข้อในการเจรจาสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แคเทอรินา ตีฮอนโนวา และมาเรีย โวรอนต์โซวา ลูกสาว 2 คนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งถูกสหรัฐฯ ประกาศแซงก์ชันในระลอกล่าสุด
ทำเนียบขาวประกาศการแซงก์ชันรัสเซียรอบใหม่ในวันพุธ (6 เม.ย.) โดยพุ่งเป้าไปที่ลูกสาว 2 คนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตลอดจนพวกธนาคาระดับท็อปทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนแดนหมีขาว ขณะที่สหภาพยุโรปเตรียมออกมาตรการของตนเช่นกัน เพื่อตอบโต้กรณีการสังหารหมู่ในเมืองบูชา ซึ่งทั้งยูเครนและฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม แม้รัสเซียยืนกรานว่าไม่เกี่ยวข้อง แถมตอกกลับว่าเป็นความพยายามของตะวันตกในการขัดขวางการเจรจาสันติภาพ หลังจากรู้ว่ากรุงเคียฟเสนอร่างข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ระบุจะประกาศสถานะความเป็นกลาง ปิดโอกาสนาโต้ขยายอิทธิพลด้านตะวันออกโดยสิ้นเชิง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปติดตั้งระบบอาวุธ

ทำเนียบขาวระบุในคำแถลงว่า มาตรการแซงก์ชันครั้งใหม่ของสหรัฐฯ นี้ พุ่งเป้าเล่นงาน มาเรีย โวรอนต์โซวา และแคเทอรินา ตีฮอนโนวา บุตรสาว 2 คนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วของ ปูติน กับลูดมิลา ชเคร็บเนวา อดีตภรรยาของเขาที่หย่าร้างกันมาหลายปี

นอกจากนั้น ยังมุ่งเล่นงานภรรยาและบุตรสาวของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก ลาฟรอฟ และสมาชิกคนอื่นๆ ของสภาความมั่นคงรัสเซีย ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรี ดมิตริ เมดเวเดฟ และนายกรัฐมนตรี มิฮาอิล มิชูสติน

คำแถลงของทำเนียบขาวอ้างว่า บุคคลเหล่านี้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเองจากความเสียหายของประชาชนชาวรัสเซีย บางคนในพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาความสนับสนุนที่จำเป็นเพื่ออุ้มชูสงครามของปูตินในยูเครน

ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม อธิบายเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า “เราเชื่อว่าทรัพย์สินจำนวนมากของปูตินถูกซุกซ่อนเอาไว้กับพวกสมาชิกในครอบครัว และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเรากำลังพุ่งเป้าเล่นงานพวกเขา” ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ผู้นี้มุ่งอ้างอิงถึงบุตรสาวทั้ง 2 ของประมุขรัสเซีย

ทำเนียบขาวยังประกาศการแซงก์ชันแบบ “ปิดกั้นเต็มที่” ต่อสถาบันการเงินในภาครัฐและภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ซึ่งได้แก่ สเบอร์แบงก์ และอัลฟาแบงก์ รวมทั้งระบุว่า จากนี้ไปห้ามการลงทุนใหม่ๆ ทุกอย่างของสหรัฐฯ ในรัสเซีย

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังเปิดเผยว่า อเมริกาตกลงจัดหาความช่วยเหลือให้ยูเครนเพิ่มเติมอีก 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงระบบต่อสู้รถถัง “เจฟลิน”

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานในวันพุธ (6) ว่า สหภาพยุโรป (อียู) กำลังพุ่งเป้าจะแซงก์ชันบุตรสาว 2 คนนี้ของปูตินซึ่งปัจจุบันอายุราว 30 เศษๆ เช่นกัน โดยเอเอฟพีบอกว่าได้เห็น “บัญชีดำ” รายชื่อผู้ที่จะถูกแซงก์ชันในรอบใหม่จากอียู ซึ่งถือเป็นรอบที่ 5 แล้ว จากนั้นได้ตรวจสอบซึ่งได้รับการยืนยันจากนักการทูตอียูหลายราย

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงต่อรัฐสภายุโรป ในวันพุธ (6) ว่า อีกไม่นาน อียูจะออกมาตรการแซงก์ชันล็อตใหม่เพื่อเป็นการตอบโต้ “อาชญากรรมสงคราม” ของรัสเซียในยูเครน โดยเฉพาะการสังหารหมู่ในเมืองบูชา โดยในจำนวนนี้จะรวมกึงการแบนการนำเข้าสินค้าไฮโดรคาร์บอนทั้งหมดของรัสเซีย

การแถลงคราวนี้ เป็นการสำทับหลังจากที่เมื่อวันอังคาร (5) คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู เสนอมาตรการแซงก์ชันรอบที่ 5 ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะรวมถึงการแบนการนำเข้าถ่านหินรัสเซีย และการไม่อนุญาตให้เรือรัสเซียเข้าเทียบท่าในอียู ขณะที่ อัวร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่า อียูยังมีมาตรการลงโทษรออยู่อีกมากมาย โดยขณะนี้กำลังพิจารณาการแบนน้ำมันและตัดรายได้ของรัสเซียที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งนี้มาตรการแซงก์ชันจะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากทั้ง 27 รัฐสมาชิกของอียู

อย่างไรก็ตาม อียูยังคงไม่มีการประกาศแบนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญมากของแดนหมีขาว ทั้งนี้เนื่องจากพวกชาติอียูยังต้องพึ่งพาอาศัยก๊าซรัสเซียเป็นปริมาณ 1 ใน 3 ของที่ใช้กันอยู่ ยิ่งเยอรมนี ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วยแล้ว ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงสำคัญนี้จากแดนหมีขาวถึงกว่า 40% ทีเดียว

การแซงก์ชันของตะวันตกเพื่อลงโทษการรุกรานยูเครนที่รัสเซียระบุว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” แต่ฝ่ายตะวันตกบอกว่าเป็นการโจมตีชาติยุโรปครั้งรุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มพูนขึ้นมาอีกระลอก หลังจากยูเครนเผยแพร่ภาพศพพลเรือนมากมายในเมืองบูชา ภายหลังจากที่รัสเซียถอนกำลังทหารออกไป

เจ้าหน้าที่ยูเครนบอกว่า พบศพพลเรือน 150-300 คนในสุสานขนาดใหญ่ของโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองบูชา ที่อยู่ติดๆ กับด้านเหนือของกรุงเคียฟ ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกอ้างว่า ภาพถ่ายดาวเทียมของแมกซาร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของอเมริกา ที่ถ่ายไว้เมื่อหลายสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีศพพลเรือนเกลื่อนกลาดบนท้องถนนตั้งแต่ตอนนั้น เป็นการหักล้างข้ออ้างของฝ่ายรัสเซียที่ว่า ศพเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาหลังทหารรัสเซียถอนตัวไปแล้ว และการกล่าวหาของยูเครนเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานตลอดจนประจักษ์พยานยืนยัน อย่างไรก็ดี รัสเซียเรียกร้องว่าควรต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์กันให้ชัดเจนก่อน

ขณะเดียวกัน หลังปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวว่า การแซงก์ชันรัสเซียครั้งใหม่จะต้องสาสมกับความรุนแรงของอาชญากรรมสงครามที่มอสโกก่อขึ้น และสำทับว่า นี่คือช่วงเวลาสำคัญสำหรับผู้นำตะวันตก

แต่รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมโต้กลับว่า เป็นแผนการของตะวันตกที่มุ่งดิสเครดิตแดนหมีขาว เพื่อขัดขวางการเจรจาสันติภาพระหว่างมอสโกกับเคียฟที่มีความคืบหน้าชัดเจน

สำนักข่าวอาร์ทีของรัสเซียรายงานเมื่อวันอังคารโดยอ้างอิงการเปิดเผยของเซียร์เก ราฟลอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่กล่าวว่า มอสโกเชื่อว่า ตะวันตกกำลังพยายามใช้ “ความกลัวที่ไม่สามารถควบคุมได้” จากการกล่าวหาว่ารัสเซียก่อการสังหารหมู่ในเมืองบูชา มาขัดขวางการเจรจาสันติภาพ

ราฟลอฟ สำทับว่า มีการประโคมข่าวเหตุการณ์ในเมืองบูชา ทันทีที่การเจรจาระหว่างเคียฟกับมอสโก ในอิสตันบูลมีความคืบหน้า

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียแจงว่า วันที่ 29 มี.ค. เป็นครั้งแรกที่ยูเครนเสนอร่างสนธิสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระบุถึงความพร้อมในการประกาศตนเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมกลุ่มใดๆ และไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งปฏิเสธอย่างเป็นทางการไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปติดตั้งระบบอาวุธในดินแดนของตน และจะไม่ซ้อมรบร่วมกับต่างชาติโดยไม่ได้รับการยินยอมจากพวกประเทศที่ร่วมกันรับประกันความมั่นคงต่อยูเครนตามสนธิสัญญาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในประเทศเหล่านี้จะรวมถึงรัสเซียด้วย

ลาฟรอฟ เสริมว่า การรับประกันความมั่นคงตามร่างสนธิสัญญานี้จะปิดโอกาสที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) จะขยายอิทธิพลทางฝั่งตะวันออกโดยสิ้นเชิง และรับประกัน “ความมั่นคงที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในภาคพื้นยุโรปทั้งหมด” นอกจากนั้นยูเครนยังระบุในร่างข้อกำหนดหลักว่า การรับประกันความมั่นคงจะไม่บังคับใช้กับไครเมียและดอนบาส ซึ่งลาฟรอฟชี้ว่า เป็น “ความคืบหน้า” ในการเจรจา

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียทิ้งท้ายว่า มอสโกเรียกร้องให้ผู้ที่ชักใยการดำเนินการของเคียฟตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อความมั่นคงในยุโรป โดยรัสเซียพร้อมที่จะเจรจาแต่ต้องมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ดูเหมือนมีความคืบหน้า และมอสโกต้องการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า เคียฟต้องไม่เกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรม ไม่เช่นนั้นการเจรจาจะล้มเหลวเช่นเดียวกับข้อตกลงมินสก์ และรัสเซียจะไม่มีวันยอมทำข้อตกลงด้วย

(ที่มา : เอเอฟพี, อาร์ที (รัสเซียทูเดย์), รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น