บรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธสหรัฐฯ ไม่ได้ทำเงินโดยตรงจากอาวุธหลายพันชิ้นที่ส่งไปยังยูเครน ทั้งขีปนาวุธ โดรน และอาวุธอื่นๆ แต่พวกเขาเตรียมกอบโกยผลกำไรในระยะยาว ผ่านการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ประเทศต่างๆ ที่กระตือรือร้นเสริมแสนยานุภาพป้องกันตนเองรับมือรัสเซีย
เหมือนกับประเทศตะวันตกอื่นๆ สหรัฐฯ เปิดคลังแสงของตนเอง ส่งมอบอาวุธต่างๆ แก่ยูเครน ยกตัวอย่างเช่น จรวดที่ยิงด้วยการประทับบ่า สติงเจอร์และเจฟลิน อาวุธเหล่านี้เรย์เธียน เทคโนโลยีส์ และล็อคฮีด-มาร์ติน ที่ได้จ่ายเงินกันมานานแล้ว
ดังนั้น ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทเหล่านี้ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จึงยังไม่น่าเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น อันเนื่องจากการเร่งรีบส่งมอบอาวุธแก่ยูเครน เพื่อนำไปต่อสู้สกัดการรุกรานของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคลังแสงของกองทัพสหรัฐฯ จำเป็นต้องเติมเต็มเหล่าอาวุธที่ขาดหายไปจากการส่งมอบให้แก่เคียฟ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างโฆษกกระทวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เพนตากอนมีแผนใช้เงิน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจุดประสงค์นี้ ในร่างงบประมาณฉบับหนึ่งที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขีปนาวุธต่อต้านรถถังเจฟลิน ผลิตภายใต้กิจการร่วมค้าระหว่างล็อคฮีด กับเรย์เธียน ส่วนขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานสติงเจอร์ของเรย์เธียน เคยถูกระงับการผลิตก่อนหน้านี้ จนกระทั่งเพนตากอนมีคำสั่งซื้ออาวุธดังกล่าว 340 ล้านดอลลาร์ในช่วงฤดูร้อนปีก่อน
"เรากำลังสำรวจทางเลือกต่างๆ ในการเติมเต็มคลังแสงของสหรัฐฯ ให้เร็วขึ้น และทดแทนคลังแสงที่หมดลงของพันธมิตรและคู่หู" โฆษกกล่าว "เราจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้กลับมาผลิตได้อีกรอบ"
"ถ้ามีการส่งมอบสติงเจอร์ 1,000 ลูก และเจฟลิน 1,000 ลูก ไปยังยุโรปตะวันออกในแต่ละเดือนในปีหน้า ในมุมมองของเรามันจะเท่ากับรายได้ราว 1,000 ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับผู้ผลิตทั้งสอง ซึ่งดูเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียว" โคลิน สคาโรลา ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมกลาโหม จากบริษัทวิจัยด้านการลงทุน CFRA บอกกับเอเอฟพี
เรย์เธียน เทคโนโลยีส์ และล็อคฮีด-มาร์ติน มีตัวเลขรายได้ลดลงในปีที่แล้ว แต่อยู่ที่ระดับ 64,000 ล้านดอลลาร์ และ 67,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
เหล่าผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตอาวุธบางส่วน พูดเป็นนัยเมื่อครั้งแถลงผลประกอบการไตรมาสหลังสุดในช่วงปลายเดือนมกราคม ว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขา
เกรก เฮย์ส ซีอีโอของเรย์เธียน บอกว่าความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย ตะวันออกกลางและยุโรป อาจนำมาซึ่งยอดขายระหว่างประเทศที่สูงขึ้น โดยจะไม่เพิ่มขึ้นโดยทันที แต่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2022 และหลังจากนั้น
เจมส์ ไทเคิลต์ ซีอีโอล็อคฮีด มาร์ติน ระบุเขาสังเกตเห็นการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจรอบใหม่ที่อาจกระตุ้นให้สหรัฐฯ ใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้น
ส่วน บรูเคทท์ ฮิวอี จากบริษัทการเงินมอร์นิงสตาร์ มองว่า "สงครามในยูเครนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ในแนวทางที่ไม่พบเห็นมาก่อนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มตระหนักว่าโลกปลอดภัยน้อยลงอย่างมาก และบางทีอาจจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในผลิตภัณฑ์กลาโหม"
เอริค เฮกินโบแทม นักวิจัยจากศูนย์ศึกษานานาชาติ MIT ระบุว่า บรรดารัฐบาลชาติตะวันตก จะมีความอยากน้อยลงในการปรับลดงบประมาณด้านกลาโหม ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในเอเชียมานานหลายปีแล้ว
ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจไบ เดน เสนอเพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมอีก 4% และแม้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงลิ่งในอเมริกา
เยอรมนี ประเทศที่มีความกังวลมาช้านานเกี่ยวกับงบประมาณด้านการทหารระดับสูง ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังรัสเซียรุกรานยูเครน โดยบอกว่าจะจัดสรรงบประมาณในทันที 100,000 ล้านยูโร เพื่อปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย
(ที่มา : เอเอฟพี)