ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) ว่า พวกประเทศ “ไม่เป็นมิตร” ซึ่งรวมถึงชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดด้วยนั้น จำเป็นจะต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลสำหรับจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่แดนหมีขาวส่งให้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าในทางปฏิบัติจะมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ หลังจากเยอรมนีระบุในวันพุธ (30) ว่า นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ บอกกับปูตินว่า ยังไม่ตกลงยอมรับกระบวนการนี้ และต้องการทราบรายละเอียดเสียก่อน
“พวกเขาต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลในธนาคารของรัสเซีย และจากบัญชีเหล่านี้แหละซึ่งจะมีการชำระเงินค่าก๊าซที่จัดส่งตั้งแต่วันพรุ่งนี้ วันที่ 1 เมษายน” ปูตินกล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐบาลรัสเซียที่มีการถ่ายทอดทางทีวีด้วย
เขาประกาศว่าเขาได้ลงนามในกฤษฎีที่วางกรอบกระบวนการชำระเงินนี้ “อย่างชัดเจนและโปร่งใส”
“ถ้าไม่มีการชำระเงินเช่นนี้ เราจะพิจารณาว่านี่เป็นการละเมิดสัญญาข้อผูกมัดในส่วนของผู้ซื้อของเรา ซึ่งจะต้องรับผลต่อเนื่องต่างๆ ที่ติดตามมา” ประมุขรัสเซียกล่าว
“ไม่มีใครขายอะไรให้เราแบบฟรีๆ โดยไม่คิดเงิน และเราก็จะไม่ทำงานการกุศลเช่นกัน นี่หมายความว่าสัญญาข้อตกลงต่างๆ ที่มีอยู่จะยุติลง” ถ้าไม่มีการชำระเงิน เขากล่าวต่อ
ปูตินบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อธิปไตยของรัสเซีย โดยเขากล่าวว่า พวกประเทศตะวันตกกำลังใช้ระบบการเงินมาเป็นอาวุธ และดังนั้นจึงทำให้ไม่มีเหตุผลใดๆ สำหรับรัสเซียที่จะค้าขายในสกุลดอลลาร์และยุโรป ในเมื่อสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินตราเหล่านี้ของรัสเซียกำลังถูกอายัด
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร สิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วคืออะไร? เราจัดส่งทรัพยากรของเรา ซึ่งในกรณีคือก๊าซ ไปยังผู้บริโภคชาวยุโรป พวกเขาได้รับมัน จ่ายเราในสกุลเงินยูโร ซึ่งจากนั้นพวกเขาก็จัดการอายัดเอาไว้ด้วยตัวพวกเขาเอง ในแง่มุมเช่นนี้ มีเหตุผลทุกๆ ประการที่จะเชื่อว่า ก๊าซส่วนซึ่งเราจัดหาเอาไปส่งให้แก่ยุโรปนั้นในทางปฏิบัติแล้วเป็นสินค้าฟรีๆ ไม่มีการคิดราคาอะไร” เขากล่าว และบอกต่อไปว่า “แน่นอนล่ะ เรื่องอย่างนี้ไม่สามารถปล่อยให้ดำเนินต่อไปได้แล้ว”
ตามกฤษฎีกาที่ปูตินลงนาม การชำระเงินทั้งหมดในเรื่องนี้จะดูแลดำเนินการโดยธนาคารก๊าซปรอมแบงก์ ซึ่งเป็นกิจการในเครือของก๊าซปรอม รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย
ทั้งนี้ผู้ซื้อจะโอนเงินที่จะชำระไปยังบัญชีของก๊าซปรอมแบงก์ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จากนั้นแบงก์แห่งนี้ก็จะแปลงเป็นรูเบิล และโอนไปยังบัญชีสกุลเงินรูเบิลของผู้ซื้อ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธ (30) สเตฟเฟน เฮอเบสเตรท โฆษกรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า ปูติน ได้กล่าวกับ ชอลซ์ ระหว่างการหารือกันทางโทรศัพท์ว่า การชำระค่าก๊าซสำหรับยุโรปในเดือนเมษายน “ยังสามารถจ่ายเป็นยูโรเข้าสู่ธนาคารก๊าซปรอม ซึ่งไม่ได้ถูกฝ่ายตะวันตกเล่นงานด้วยมาตรการแซงก์ชั่น” จากนั้นทางธนาคารจะนำเงินที่ได้ไปแลกเป็นรูเบิลเอง
เฮอเบสเตรท บอกว่าการพูดคุยโทรศัพท์ครั้งนี้ “เกิดขึ้นตามการร้องขอของผู้นำรัสเซีย” โดย ปูติน ได้เน้นย้ำกับ ชอลซ์ ว่า “ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศคู่สัญญาในยุโรป” หลังจากที่ระบบการชำระเงินใหม่เริ่มมีผลบังคับในวันที่ 1 เม.ย.
“นายกรัฐมนตรี ชอลซ์ ไม่ได้ตกลงยอมรับกระบวนการนี้ แต่ขอให้รัสเซียส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรมา เพื่อจะได้เข้าใจว่ากระบวนการเป็นอย่างไรแน่” โฆษกรัฐบาลเมืองเบียร์กล่าว
“กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 มีจุดยืนตรงกันว่า การส่งมอบพลังงานต้องจ่ายเป็นเงินสกุลยูโรหรือดอลลาร์ ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา”
ทางด้านทำเนียบเครมลินมีถ้อยแถลงออกมาว่า ปูติน ได้บอกกับนายกฯ เยอรมนี ว่าข้อเรียกร้องของมอสโกที่ให้ยุโรปจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล “ไม่ควรนำไปสู่เงื่อนไขสัญญาที่ส่งผลเสียต่อบริษัทผู้นำเข้าในยุโรป”
เซเลนสกี้โวเตรียมพร้อมรับมือรัสเซียโจมตี “ดอนบาสส์”
สำหรับสถานการณ์การสู้รบในยูเครน ระหว่างกล่าวปราศรัยผ่านวิดีโอเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ (31) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ของยูเครน อวดอ้างว่า การที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนออกจากเคียฟและเมืองเชอร์นิฮีฟทางเหนือไม่ได้เป็นการถอนกำลัง ทว่า เป็นผลจากปฏิบัติการของกองทัพยูเครน
เขาเสริมว่า ยูเครนกำลังเตรียมพร้อมรับมือกองกำลังรัสเซียที่ระดมพลเพื่อโจมตีครั้งใหม่ในดอนบาสส์
เขตดอนบาสส์ทางภาคตะวันออกของยูเครนนั้น ครอบคลุมถึงเมืองมาริอูโปล ที่เคยมีประชากร 400,000 คน แต่เวลานี้อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เสียหายหรือพังพินาศจากการสู้รบระหว่างกองกำลังยูเครนกับกองทหารรัสเซียซึ่งถล่มโจมตีและปิดล้อมมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว
มีรายงานว่า ขบวนรถของยูเครนออกเดินทางไปยังเมืองนี้ในวันพฤหัสฯ เพื่อพยายามอพยพพลเรือนที่ติดค้างอยู่ออกมาโดยได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดที่ทำข้อตกลงกับรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ในวันพุธ (30 มี.ค.) เคต เบดิงฟิลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของทำเนียบขาวอ้างรายงานข่าวกรองของสหรัคฐฯที่ระบุว่า มีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กับเหล่าผู้นำทางทหารที่ไม่กล้าเตือนถึงผลงานที่ย่ำแย่ในสนามรบ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการแซงก์ชันของตะวันตก ทำให้ปูตินเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริง
นักการทูตอาวุโสผู้หนึ่งของยุโรปกล่าวสำทับว่า การประเมินของอเมริกาสอดคล้องกับความคิดของยุโรปว่า ปูตินคิดว่า สถานการณ์ดีกว่าที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นผลจากการถูกห้อมล้อมด้วยที่ปรึกษาที่ไม่กล้าขัดใจ
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)