xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้สับสน! โดนรัสเซียขึ้นบัญชีดำ สั่งจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดาประเทศผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในเอเชีย แสดงความสับสนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อกรณีที่มอสโกเรียกร้องให้จ่ายค่าส่งมอบเป็นเงินสกุลรูเบิล ข้อบังคับใหม่ที่มีออกมาตอบโต้เหล่าชาติต่างๆ ที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ลงโทษที่ยกพลรุกรานยูเครน

เมื่อวันพุธที่แล้ว (23 มี.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุว่า "บรรดาประเทศไม่เป็นมิตร" จะยังคงได้รับก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในปริมาณและราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่เวลานี้จำเป็นต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเหล่านั้นเป็นสกุลเงินรูเบิล

ในเอเชียหลายประเทศ ในนั้นรวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านโครงการซาคาลิน 2 (Sakhalin-2) และยามาล แอลเอ็นจี (Yamal LNG)

ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นระบุว่า โตเกียวสับสนต่อความต้องการของรัสเซีย "พูดตรงๆ เลย เราไม่เข้าใจจุดประสงค์อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับแนวทางในการดำเนินการ ปัจจุบันรัฐบาลกำลังหารือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์"

ญี่ปุ่นเป็นชาติผู้นำเข้า LNG ของรัสเซียรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากมอสโกถึง 6.84 ล้านตันในปี 2014

ซูซูกิ เน้นว่า การตัดสินใจต่างๆ ของโตเกียวในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรมอสโกเพิ่มเติม จะดำเนินการภายใต้การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่มันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของญี่ปุ่น

หลายประเทศในบรรดาผู้จัดซื้อรายหลักก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่ายังไม่ได้รับแจ้งใดๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินจากสกุลเงินดอลลาร์เป็นรูเบิล ขณะที่โฆษกของโตเกียว ก๊าซ และโอซากา ก๊าซของญี่ปุ่นบอกว่า อยู่ระหว่างการตวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินด้วยสกุลรูเบิล

ในส่วนของเกาหลีใต้ ประเทศผู้นำเข้า LNG ของรัสเซีย รายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในเอเชีย คาดหมายว่าจะสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต่อไป โดยคณะกรรมาธิการด้านการเงินของเกาหลีใต้ ระบุว่า จะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การทำการค้าเพิ่มเติมกับรัสเซีย

ไต้หวันบอกว่าจนถึงตอนนี้พวกเขายังไม่ได้รับข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงิน

พวกนักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตะวันตกว่าเสียงเรียกร้องของรัสเซียที่ขอให้ชำระเงินเป็นรูเบิลนั้น เพื่อส่งเสริมสกุลเงินของประเทศ ซึ่งดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับยูเครน

เอสวาร์ พราสาด นักวิชาการด้านนโยบายการค้า จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในสหรัฐฯ มองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวไม่น่าจะได้ผล บรรดาผู้นำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซียจะยินดีจ่ายค่าซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียด้วยสกุลเงินที่อ่อนค่าอย่างรุนแรงอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เขาบอกว่าสิ่งที่ท้าทายกว่าคือ การเข้าถึงค่าเงินรูเบิล โดยไม่เป็นการละเมิดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของนานาชาติ และการจ่ายค่าพลังงานด้วยเงินรูเบิลแทบจะมีผลน้อยมากในการแก้ปัญหาค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ ปูติน แถลงแผนดังกล่าว ค่าเงินรูเบิลฟื้นกลับมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์/เอพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น