ราคาน้ำมันพุ่ง 5% ทะลุ 121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันพุธ (23 มี.ค.) หลังเกิดความวุ่นวายด้านการส่งออกน้ำมันดิบระหว่างรัสเซียกับคาซัคสถาน ผ่านท่อลำเลียงแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอเตียม (ซีพีซี) ซ้ำเติมวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยหลังนี้ยังคงฉุดวอลล์สตรีทปิดลบและดันทองคำแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 5.66 ดอลลาร์ ปิดที่ 114.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 6.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 121.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การส่งออกน้ำมันดิบจากคลังน้ำมันซีพีซีของคาซัคสถาน ตามแนวชายฝั่งทะเลดำของรัสเซีย หยุดลงโดยสิ้นเชิงในวันพุธ (23 มี.ค.) หลังได้รับความเสียหายจากพายุลูกหนึ่งและสภาพอากาศที่ยังคงเลวร้าย
อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ระบุในเวลาต่อมา ว่าอุปทานน้ำมันจากซีดีซีอาจหยุดลงโดยสิ้นเชิงเป็นเวลาสูงสุด 2 เดือน
ท่อลำเลียงซีดีซีคือเส้นทางอุปทานที่สำคัญแห่งหนึ่งสำหรับตลาดโลก ลำเลียงน้ำมันดิบเกรดหลักของคาซัคสถาน ราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมีสัดส่วนคิดเป็น 1.2% ของอุปสงค์โลก
สถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมความกังวลแก่ตลาดพลังงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่ก่อนแล้วจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย ชาติผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ลงโทษกรณีที่รุกรานยูเครน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (23 มี.ค.) ปิดในแดนลบ ยังคงกังวลต่อสถานการณ์การสู้รบระหว่างเคียฟกับมอสโก ในขณะที่บรรดาผู้นำตะวันตกเริ่มรวมตัวกันในบรัสเซลส์ เพื่อวางแผนหามาตรการเพิ่มเติมกดดันรัสเซียให้หยุดปฏิบัติการรุกรานยูเครน
ดาวโจนส์ ลดลง 448.96 จุด (1.29 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,358.50 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 55.37 จุด (1.23 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,456.24 จุด แนสแดค ลดลง 186.21 จุด (1.32 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,922.60 จุด
ในความเคลื่อนไหวตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า มอสโกจะขอให้มีการชำระหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติ ด้วยสกุลเงินรูเบิล สำหรับบรรดาประเทศที่ไม่เป็นมิตร ในขณะที่กองกำลังของรัสเซียเดินหน้าถล่มพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเคียฟมานานนับเดือน
แม้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ดีดตัวสูงขึ้น ช่วยดันหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ขณะเดียวกันมันก็ส่งผลกระทบทางในลบแก่บรรดาผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ
ทั้งนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน กระตุ้นให้นักลงทุนหันถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และดันราคาทองคำในวันพุธ (23 มี.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 สัปดาห์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 15.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,937.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์/มาร์เก็ตวอตช์)