นักข่าวหนุ่มดัตช์เจาะลึกดำดิ่งเข้าขุดคุ้ยปฏิบัติการพิเศษของ 26 จารชนเกาหลีเหนือ ที่ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของความโชคร้ายขั้นสุด เรือดำน้ำไปค้างเติ่งบนแนวหินชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีใต้อย่างเหลือเชื่อ ก่อนจะถูกมัจจุราชนำพาสู่ความตายอันอื้อฉาวครึกโครมไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งถูกสหายโสมแดงด้วยกันยิงคว่ำตายเกลื่อนเลือดนองห้องปฏิบัติการเรือดำน้ำ 11 ศพ และอีกหลายส่วนไปดับอนาถบนแผ่นดินเกาหลีใต้ขณะยิงปะทะกับทหารโสมขาวซึ่งปูพรมไล่ล่ากว่า 49 วัน
เป็นหนึ่งเดือนครึ่งที่ โหดสุดเกรียน บอกเลย!!
เจอโรน วิสเซอร์ (Jeroen Visser) เดินทางไปทำข่าวมหกรรมการแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวพย็องชัง 2018 ณ จังหวัดคังวอนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-25 กุมภาพันธ์ 2018 แต่ขณะยืนบนผืนแผ่นดินของเมืองคังนึง ซึ่งอยู่ติดกันกับเมืองพย็องชังทว่ามีชายแดนจรดไปถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก และถูกใช้เป็นสนามแข่งกีฬาฤดูหนาวประเภทอินดอร์เสริมกับสนามแข่งกีฬาฤดูหนาวหลักที่พย็องชัง นั้น หนุ่มนักข่าวชาวดัตช์ได้พบเห็นบางอย่างที่น่าติดตามยิ่งกว่าการแข่งขันชิงความเป็นสุดยอดนักกีฬาโลก สิ่งนั้นก็คือ เรือดำน้ำรุ่นมินิของเกาหลีเหนือที่เคยแทรกซึมเข้าไปสอดแนมในเกาหลีใต้เมื่อปี 1996
“ผมไปพบเรือดำน้ำตรงสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว และก็ได้ชมพิพิธภัณฑ์การรวมชาติ เขานำปืนอาก้าคาลาชนิคอฟ ระเบิดมือ และเครื่องยิงจรวดมาจัดแสดงด้วยครับ” หนุ่มวิสเซอร์ นักข่าววัย 42 ปีแห่งหนังสือพิมพ์เดโฟลก์สแกรนท์ เล่าสู่เอเชียไทมส์
เกาหลีใต้นำเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือและอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเครื่องมือจารกรรมและสิ่งของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาจัดแสดงนิทรรศการ ณ สวนสาธารณะริมทะเลชานเมืองคังนึงอันเป็นเมืองชายหาดชั้นเยี่ยมของจังหวัดคังวอน
นิทรรศการดังกล่าวเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งอื้อฉาวกระหึ่มโลกเมื่อปี 1996 เรื่องราวและข้อมูลอันน่าระทึกใจของวิกฤตแห่งการขับเคี่ยวปีนเกลียวระหว่างโสมขาวกับโสมแดง เข้าไปกระทบใจของวิสเซอร์ เขาตะลุยขุดค้นข้อมูลมาเขียนหนังสือเรื่อง North Korea Never Says Sorry หรือก็คือ เกาหลีเหนือไม่เคยกล่าวขออภัย
วิสเซอร์ ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่สำนักงานของเดโฟล์กสแกรนท์ในกรุงสตอกโฮล์ม ดำเนินท้องเรื่องของหนังสือเล่มนี้โดยเล่าถึงปฏิบัติการของทีมโสมแดงอย่างละเอียดและมากมายด้วยสีสัน ตลอดจนวิเคราะห์ไปถึงเหตุการณ์สืบเนื่องต่อมาภายหลังด้วย
นักวิจารณ์หนังสือท่านหนึ่งกล่าวว่า “อ่านแล้วเหมือนนิยายผจญภัยน่าตื่นเต้นที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง” ขณะที่นักวิจารณ์อื่นๆ ติเตียนว่าอ่านแล้วระคายใจอย่างยิ่ง และบางท่านถึงกับตำหนิว่า “บ้าไปแล้ว”
เรือดำน้ำเผชิญธรรมชาติวิปริต ภารกิจจึงผิดพลาด ฉกาจฉกรรจ์ถึงขั้น “ตายยกลำ”
ในเดือนกันยายน 1996 สำนักงานข่าวกรองกลางของเกาหลีเหนือ หรือ อาร์จีบี (Reconnaissance General Bureau - RGB) ซึ่งรับผิดชอบงานจารกรรมได้ส่งเรือดำน้ำขนาดมินิ รุ่นซังโก หรือฉลามหนุ่ม พร้อมด้วยลูกเรือและจารชน รวม 26 ชีวิตไปดำเนินภารกิจจารกรรมข้อมูลฐานบินของเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับตัวเมืองคังนึง
ในจำนวน 26 รายที่เดินทางไปกับเรือดำน้ำนี้ มีสามรายที่เป็นจารชนผู้เชี่ยวชาญการแทรกซึมล้วงข้อมูลลับ กับทีมทหารเรือนักจู่โจมของอาร์จีบีสิบกว่าราย ทั้งนี้ มีการเดินทางขึ้นบกและดำเนินภารกิจจนสำเร็จเรียบร้อย อันได้แก่ เข้าไปเก็บข้อมูลฐานบิน และถ่ายภาพฐานบินตลอดจนสภาพแวดล้อมของฐานบิน
แต่แล้ว... ขณะพยายามถอนกำลังออกจากชายฝั่งทะเลฟากตะวันออกของเกาหลีใต้ ณ คืนที่ 17 กันยายน 1969 สภาพการณ์เกิดความแปรปรวน แผนดำเนินงานจึงผิดพลาดอย่างร้ายแรง
“มีพายุรุนแรงและคลื่นซัดสูงน่ะครับ เรือดำน้ำจึงไปติดค้างบนแนวโขดหิน ณ ระยะห่างชายฝั่งแค่ 20 เมตร” วิสเซอร์เล่าข้อมูลเหตุการณ์ “พวกนั้นพยายามจะระเบิดเรือดำน้ำ แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น 26 คนเหล่านี้จึงแบ่งตัวเป็นหลายกลุ่ม หนังสือของผมจะเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้”
ลำพังที่เรือดำน้ำเกยตื้น ก็นับว่าย่ำแย่ที่สุดแล้ว แต่ทีมจารกรรมยังต้องเผชิญกับวิกฤตร้ายแรงกว่านั้น
คนขับรถแท็กซี่ซึ่งวิ่งรถหารายได้ยามดึก มองเห็นกลุ่มบุคคลน่าสงสัย และจึงรายงายไปยังตำรวจ!!
การไล่ล่าผู้ที่ผละหนีจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือจึงอุบัติขึ้นด้วยกองกำลังทหารมากกว่า 40,000 นาย ซึ่งรวมถึงทีมหน่วยรบพิเศษพลร่มจู่โจม
ปฏิบัติการไล่ล่าจารชนโสมแดงดำเนินอย่างจริงจังและกัดไม่ปล่อย จนกว่าจะกวาดจับครบถ้วน ซึ่งก็สิริรวมได้เนิ่นนานถึง 49 วัน
ทำงานใหญ่ ใจต้องเหี้ยม: เด็ดหัวกันเอง ‘11 ลูกเรือ โดนสหายยิงตายเกลื่อนเรือดำน้ำ’
เมื่อทางการเกาหลีใต้เข้าตรวจสอบภายในเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ ได้พบร่างไร้วิญญาณจำนวน 11 รายซึ่งมีลักษณะเป็นทีมลูกเรือ ในการนี้ มองเห็นเป็นรูปการณ์ได้ว่าน่าจะถูกสังหารโดยสหายโสมแดงด้วยกันนั่นเอง บางฝ่ายวิเคราะห์ว่าอาจเป็นการลงโทษสำหรับความผิดพลาดที่พาให้เรือดำน้ำต้องค้างเติ่งอยู่บนแนวโขดหิน
แต่บางฝ่ายวิเคราะห์ว่าทั้งหมดนี้เต็มใจให้สังหาร เพราะเข้าใจสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีว่าพวกตนไม่มีทางจะประสบความสำเร็จในการหลบเร้นและหลีกหนีการไล่ล่าของทหารเกาหลีใต้ขณะดั้นด้นเดินทางเกือบ 100 กิโลเมตร ฝ่าพื้นที่ทุรกันดารของเทือกเขา เพื่อไปข้ามเขตปลอดทหารดีเอ็มซี และกลับเข้าสู่เกาหลีเหนือ
หนุ่มวิซเซอร์ นักข่าวชาวดัตช์บอกด้วยว่า เรื่องราวอันดุเดือดโกลาหลและเต็มไปด้วยรายละเอียดโหดและมันส์เหลือเชื่อ ทำให้เขามุ่งมั่นจะติดตามให้เข้าใจได้ทะลุปรุโปร่งว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่อุบัติขึ้นในปี 1996 นั้น มีอะไรบ้าง
ด้านเอเชียไทมส์เองได้พบว่า บนกองข้อมูลมากมายที่สื่อมวลชนทั้งปวงได้แข่งกันนำเสนอต่อประชาชนไปมากมายแล้วนั้น วิสเซอร์ได้พบสิ่งใหม่ๆ มาเล่าสู่สาธารณชนอย่างหลากหลาย
หนึ่งในบรรดาข้อมูลที่ยั่วน้ำลายให้อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องราวการจารกรรมล้มเหลวครั้งนี้ ก็คือสปายฝ่ายโสมแดงสองรายสุดท้ายที่เกาหลีใต้ติดตามตัวได้สำเร็จ เก็บรักษาสมุดจดภารกิจวินาศกรรมรายวันไว้กับตัวจนถึงวันตายภายในเหตุการณ์ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายโสมขาว ไดอารีอันนี้ถูกพบเมื่อเข้าไปเคลียร์ศพ
“ผมสามารถเข้าถึงไดอารี่นี้ได้ทั้งหมดครับ” วิสเซอร์บอก พร้อมระบุว่าถ้าเป็นปฏิบัติการของกองกำลังพิเศษในโลกตะวันตก เรื่องที่จะเก็บบันทึกกิจกรรมการดำเนินภารกิจอย่างละเอียดเยี่ยงนี้ ถือว่าฝ่าฝืนแนวปฏิบัติของจารชนอย่างร้ายแรง
แม้สมุดจดกิจกรรมรายวันดังกล่าวไม่ได้เปิดให้สาธารณชนได้อ่าน แต่วิสเซอร์กับล่ามเกาหลีไปค้นพบในห้องสมุดรัฐสภาในกรุงโซล
วิสเซอร์ได้อ่านและรู้สึกมากเลยว่าไดอารี่นี้ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง อ่านสนุกเป็นที่สุด และชั่วร้ายขั้นพญามารกันเลยทีเดียว
“พวกเขาเขียนไว้หมดครับทั้งแท็กติกการดำเนินงาน วิธีปฏิบัติการ และชื่อบุคคลที่เขาสังหาร” วิสเซอร์บอกอย่างนั้น “และพวกเขายังล้อเลียนเย้ยหยันคนเกาหลีใต้ กับเล่าถึงการฝึกอบรมงานจารกรรมที่ผ่านมาแบบปางตาย ตลอดจนเล่าว่าพวกเขาหลบหนีพวกทหารเกาหลีใต้ได้อย่างง่ายดายเพียงใด กระนั้นก็ตาม บริบทที่พวกเขาเขียนนั้น ปรากฏร่องรอยของความตึงเครียด ความตึงเครียดในประเด็นว่าถ้าถูกจับแล้ว จะอย่างไรดี”
จารชนโสมแดงเก็บ “ไดอารีภารกิจวินาศกรรม” ไว้กับตัวจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
คำถามในเชิงเตรียมความคิดว่า “ถ้าถูกจับแล้ว จะอย่างไรดี” นั้น สองจารชนเกาหลีเหนือน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว เพราะทั้งคู่เลือกที่จะสู้ตายมากกว่าจะยอมมอบตัว
ทั้งนี้ ชีวิตบนเส้นด้ายของสองจารชนจบลงอย่างสุดยอดดราม่าเลือดทาแผ่นดินรวมได้ถึง 8 ศพ
“พวกเขาไปเจอโดยบังเอิญกับชาวบ้านสูงวัยชาวเกาหลีใต้ 3 คน เป็นหญิงหนึ่งราย ชายสองราย ซึ่งน่าจะเป็นชาวบ้านที่เข้าไปเก็บเห็ดในราวป่าบนภูเขา” วิสเซอร์ถ่ายทอดข้อมูล และให้รายละเอียดดังนั้น
สถานการณ์คับขันจวนตัวเยี่ยงนี้เคยเกิดขึ้นกับกองกำลังพิเศษชาวอังกฤษนายหนึ่งซึ่งลาดตระเวนในอิรัก กับเจ้าหน้าที่หน่วยซีล SEAL ของสหรัฐอเมริกานายหนึ่งในอัฟกานิสถาน ทั้งสองรายนี้ไม่ทำร้ายพลเรือน และหลังจากที่เขาถูกชาวบ้านเจอตัว ทั้งสองต่างถูกฝ่ายข้าศึกเด็ดชีพ
แต่สปายเกาหลีเหนือโหดกว่า
“จารชนเกาหลีเหนือคู่นั้นสังหารพลเรือนครับ” วิสเซอร์กล่าว “พลเรือนรายหนึ่งถูกฆ่ารัดคอ และถูกของแข็งตีจนเสียชีวิต ส่วนพลเรือนอีก 2 รายตายด้วยคมกระสุน”
กระนั้นก็ตาม เสียงปืนคร่าวิญญาณชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ ดังไปถึงหูฝ่ายทหารเกาหลีใต้ และจึงมีการระดมสรรพกำลังค้นหาจุดเกิดเหตุได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากจุดสังหารชาวบ้านดังกล่าว ทหารเกาหลีใต้สามารถแกะรอยจารชนเกาหลีเหนือทั้งสองนายได้สำเร็จ
“ในท้ายที่สุด ทหารเกาหลีใต้เห็นตัวสองจารชนเกาหลีเหนือ ณ บริเวณที่ห่างจากพื้นที่เขตปลอดทหารดีเอ็มซีแค่ประมาณสิบกว่ากิโลเมตร” วิสเซอร์เล่าพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สองรายนี้เคยถูกเจอตัวมาก่อนหน้านี้ แต่สามารถหนีพ้นได้ – แต่ในเที่ยวนี้ พวกเขาถูกล้อมจับ”
ในการยิงต่อสู้ จารชนเกาหลีเหนือยิงทหารเกาหลีใต้เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 14 นาย ก่อนจะถูกกองกำลังพิเศษของเกาหลีใต้ยิงคว่ำเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
วันแห่งการนองเลือดตาย-เจ็บเกลื่อนปฐพี คือวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 1969 ปิดฉากการไล่ล่าจารชนโสมแดง แต่ยังมิได้ปิดฉากเรื่องจารกรรม
มีจารชนเกาหลีเหนือที่ยังจับตัวไม่ได้และยังเป็นอันตรายอีกอย่างน้อย 1 ราย
ลี กวางซู จารชนโสมแดงที่รอดชีวิตเพราะถูกจับกุมตั้งแต่วันแรกโดยไม่ได้ยิงต่อสู้แบบยอมตาย เพราะทักษะความชำนาญของเขาไม่ได้ถูกฝึกมาในทางการใช้อาวุธ เนื่องจากเขาเป็นผู้ขับเรือดำน้ำ ทั้งนี้ ลีกวางซูเป็นเพียงรายเดียวที่ยอมกลับใจและให้ความร่วมมือแก่ทางการเกาหลีใต้
“เขาถูกฝึกฝนการคุมเรือดำน้ำให้เป๊ะ ณ ระดับความลึกพอเหมาะที่จะหลบกล้องเพอริสโค และก็ช่วยบรรดาจารชนในการลงเรือและขึ้นฝั่ง” นักข่าววิสเซอร์กล่าว และบอกด้วยว่า “ลีกวางซูเป็นคนอาร์จีบีที่ถูกฝึกมาอย่างดี”
ลีกวางซูยอมแปรพักตร์และได้ทำงานให้แก่ฝ่ายโสมขาวในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สอนทหารเรือเกาหลีใต้ให้ได้ทราบถึงองค์กรอาร์จีบี ตลอดจนแท็กติกการดำเนินงานขององค์กร
แต่คำถามคือ แล้วลูกเรือโสมแดงหนึ่งรายที่ทางการเกาหลีใต้ยังไม่เจอตัวล่ะ จะว่าอย่างไร หรือว่าเขาจะเป็นผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียวที่สามารถเล็ดรอดกลับสู่เกาหลีเหนือสำเร็จ
ทั้งนี้ ข้อมูลของพวกจารชนบนเรือดำน้ำระบุว่าผู้ที่มาในคณะมีจำนวนทั้งสิ้น 26 ราย และทางการเกาหลีใต้ให้รายละเอียดการติดตามตัวได้สำเร็จมีจำนวน 25 ราย (โปรดดูในลำดับเวลาการติดตามตัวจารชนเกาหลีเหนือจนครบ 25 ราย ในภาพด้านล่าง)
“ประเด็นนี้น่าสนใจอย่างยิ่งครับ” วิสเซอร์กล่าว “เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกเรือรุ่นหนุ่ม ยังไม่ได้ขึ้นไปถึงระดับสัญญาบัตร เขาหายไป ไม่มีใครได้เห็นเขาอีกเลย ลีกวางซูให้ปากคำถึงคุณคนนี้ว่า เขาอยู่บนเรือดำน้ำแน่ๆ แต่ยังไม่มีผู้ใดพบร่องรอยของเขา”
วิสเซอร์บอกว่าเคยคุยกับแหล่งข่าวมากมายในแวดวงข่าวกรองของเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่คาดว่าชายที่หายสาบสูญนี้สามารถลักลอบกลับสู่ประเทศบ้านเกิดได้สำเร็จ
แต่วิสเซอร์คิดว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิด น่าจะมีการสับสนปนเปกับกรณีจารชนโสมแดงที่แทรกซึมเข้าทำวินาศกรรมเมื่อก่อนหน้านั้น คือ ปี 1968 ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่างที่ละม้ายกัน
วินาศกรรมดังกล่าวมีความนองเลือดมากกว่า และเป็นปฏิบัติการที่อุกอาจกว่ากันแบบว่า คนละเบอร์
โดยในเดือนมกราคม 1968 จารชนเกาหลีเหนือหมวดหนึ่งข้ามเขตปลอดทหารเข้าสู่กรุงโซล และดำเนินปฏิบัติการบุกเดอะบลูเฮาส์ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้!!
แผนปฏิบัติการมีอยู่ว่า เมื่อสังหารผู้นำสูงสุดของเกาหลีใต้ได้แล้ว กองกำลังพิเศษขนาดใหญ่จะบุกเข้ายึดกลไกหลักด้านการขนส่งและสื่อสาร เพื่อให้เกาหลีเหนือสามารถเข้ายึดเกาหลีใต้ซึ่งโกลาหลเพราะขาดผู้นำ
ในเหตุการณ์จู่โจมทำเนียบประธานาธิบดี ทีมคอมมานโดโสมแดงต้องปะทะกับการระดมยิงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากฝ่ายโสมขาว ทุกคนในทีมคอมมานโดถูกสังหาร ยกเว้นเพียง 2 นาย โดยรายหนึ่งยอมจำนน และตัดสินใจแปรพักตร์ แต่อีกรายหนึ่งหลบหนีไปได้ และสามารถกลับออกไปยังเกาหลีเหนือสำเร็จ คอมมานโดนายนี้ได้รับการเลื่อนยศขึ้นสู่ระดับนายพลเป็นรางวัล และหลายปีต่อมายังได้รับมอบหมายให้ร่วมอยู่ในคณะผู้แทนจากเกาหลีเหนือหลายหลากคณะที่มาเยือนเกาหลีใต้
ส่วนสำหรับลูกเรือของเรือดำน้ำรายที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยนั้น วิสเซอร์แน่ใจว่าไม่น่าจะไปถึงเกาหลีเหนือได้
“ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกได้ว่าเขากลับประเทศได้สำเร็จครับ” วิสเซอร์กล่าว “ผมพบสารคดีของเกาหลีเหนือเรื่องหนึ่ง ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์คังนึงหลังจากที่กาลเวลาผ่านไป 20 ปี สารคดีนำเสนอรายชื่อบุคคลบนเรือดำน้ำที่เสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 25 รายชื่อ ในนั้นมีชื่อของลูกเรือรายนี้ด้วยน่ะครับ นี่แสดงว่าทางเกาหลีเหนือก็เชื่อว่าเขาเสียชีวิตแล้ว และในภาพยนตร์สารคดีนี้มีภาพหลุมศพของเขาและมีชื่อของเขาปรากฏบนอนุสรณ์สถานด้วย”
ผู้ที่เดินทางมากับเรือดำน้ำและเสียชีวิตทั้ง 25 รายได้รับรางวัลอย่างยิ่งใหญ่จากรัฐบาลเกาหลีเหนือ และเมื่อเกาหลีใต้ส่งมอบเถ้ากระดูกของพวกเขาให้แก่ทางการเกาหลีเหนือในเดือนธันวาคม 1996 รัฐบาลโสมแดงได้มอบเกียรติยศแก่ทุกราย ด้วยการฝังเถ้ากระดูกเหล่านี้ไว้ในสุสานแห่งชาติ
ส่วนสำหรับลีกวางซูผู้แปรพักตร์ และทำงานให้แก่ทหารเกาหลีใต้ ไม่เคยได้รับการกล่าวถึงจากบรรดาเจ้านายเก่าๆ เลย
“พวกนั้นลบเขาออกจากประวัติศาสตร์ และตามที่ได้ทราบจากแหล่งข่าว เกาหลีเหนือลงโทษครอบครัวของเขาอย่างหนักด้วย มีการส่งภรรยาและครอบครัวของเขาไปเข้าแคมป์กักขัง ทั้งลูกชายวัยเพียง 3 ขวบ พี่น้องและคุณพ่อคุณแม่ล้วนแต่โดนเล่นงาน” วิสเซอร์เล่าอย่างนั้น และบอกด้วยว่า
“ครอบครัวของเขาไม่เคยลืมการทรยศที่เขากระทำในครั้งนี้”
ในหนังสือของวิสเซอร์ เล่าถึงความพยายามที่รัฐบาลเกาหลีเหนือมุ่งร้ายหมายจะลงโทษลีกวางซูด้วยการปลิดชีพ โดยส่งมือสังหารโสมแดงไปไล่ล่าตามฆ่าลีกวางซูถึงแหล่งกบดานของเขาในเกาหลีใต้ถึง 2 รอบ
“พวกนั้นส่งสายลับมาสองครั้งเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งหลบซ่อนของเขาครับ เรื่องราวของสองเอเยนต์นี้ฉูดฉาดมากเลย” วิสเซอร์บอก
หนึ่งในสองจารชนที่ถูกใช้ให้มาหาข้อมูลของลีกวางซู คือ พัคแทซอล เจ้าของชื่อโค้ดลับว่า “วีนัสทมิฬ” หรือแบล็กวีนัส ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสายลับสองหน้าชาวเกาหลีใต้ในสังกัดของสำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ หรือ Agency for National Security Planning (ANSP – ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา สำนักงานถูกเปลี่ยนชื่อเป็น National Intelligence Service หรือ NIS) และปลอมตัวเป็นนักธุรกิจแทรกซึมเข้าไปสร้างความไว้วางใจในบรรดาบุคคลสำคัญของเกาหลีเหนือ เพื่อสอดแนมเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของโสมแดงเมื่อช่วงทศวรรษ 1990
สายลับสองหน้านายนี้ประสบความสำเร็จในภารกิจ จนสามารถได้เข้าพบคิม จองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้น โดยที่แอบซ่อนไมโครโฟนไว้ในท่อปัสสาวะส่วนปลายองคชาติ จึงสามารถผ่านการตรวจค้นของฝ่ายรักษาความปลอดภัยได้ตลอดรอดฝั่ง
พัคแทซลเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาก เรื่องราวชีวิตของเขาในฐานะวีนัสทมิฬถูกนำไปสร้างภาพยนตร์อิงข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เมื่อปี 2018 คือ The Spy Gone North หรือก็คือ สายลับสองหน้าของเกาหลีใต้ซึ่งแทรกซึมไปทำจารกรรมในเกาหลีเหนือ
“ในห้วงเวลาที่ผมค้นคว้าข้อมูล ผมเจอเกร็ดต่างๆ สีสันฉูดฉาด โน่นบ้างนี่บ้างเยอะครับ ผมเขียนเกร็ดพวกนี้ไว้ในหนังสือ มันทำให้หนังสือมีแรงดึงดูดมหาศาลน่ะครับ ละก็ยังช่วยให้ผมมองเข้าใจเกาหลีเหนือและเห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในระหว่างคนเกาหลี” วิสเซอร์เล่าไว้อย่างนั้น
ไม่มีคำขออภัยจากเปียงยาง
เกาหลีเหนือดำเนินปฏิบัติการเล่นงานเกาหลีใต้ครั้งแล้วครั้งเล่าในทศวรรษ 1960, 1970, และ 1980 ซึ่งขับเคลื่อนโดยทีมจารชนและทีมคอมมานโดสุดยอดนักเชือด
นอกเหนือจากปฏิบัติการบุกทำเนียบบลูเฮาส์เพื่อสังหารประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ ตลอดจนปฏิบัติการของสองจารชนที่มุ่งเด็ดชีพลีกวางซูแล้ว ในสามทศวรรษเลือดเดือดดังกล่าว ยังมีมิชชั่นดุดันที่ฟาดฟันกันอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1968 ที่มีการปะทะเกิดขึ้นเกือบ 20 เหตุการณ์ระหว่างทหารเกาหลีใต้-ทหารสหรัฐอเมริกา ต่อสู้กับกองกำลังพิเศษของเกาหลีเหนือที่แทรกซึมเข้าก่อวินาศกรรมในดินแดนโสมขาว ตลอดจนกองโจรชุดต่างๆ ที่ได้รับมอบภารกิจจากกรุงเปียงยาง โดยที่ส่วนใหญ่อุบัติตามแนวชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีใต้เพราะแนวป้องกันในพื้นที่ปลอดทหารดีเอ็มซีมีการตรึงกำลังแน่นหนา ยากแก่การแทรกซึม
ทั้งนี้ สถานการณ์รุนแรงขั้นวิกฤติที่ต้องเอ่ยถึงเป็นพิเศษมีสองกรณีในทศวรรษ 1980 ได้แก่
1. กรณีการวางระเบิดเพื่อลอบสังหารประธานาธิบดีพลเอกชุน ดูฮวานแห่งเกาหลีใต้ ขณะปฏิบัติภารกิจในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่าอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 1983 จารชนของเกาหลีเหนือ 3 รายวางระเบิดไว้ที่อาคารจัดพิธีเคารพวีรชนแห่งประเทศพม่า ณ อนุสรณ์สถานผู้พลีชีพแก่ประเทศชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีกำหนดจะไปวางพวงมาลา
เหตุระเบิดรุนแรงมาก มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย บาดเจ็บ 46 ราย แต่พลเอกชุนดูฮวานปลอดภัย เพราะมีความล่าช้าในเส้นทางเคลื่อนขบวน และเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการจัดคิวพิธี วงดุริยางค์ต้อนรับคณะวีวีไอพีเริ่มบรรเลงเร็วเกินไป โดยที่วีวีไอพียังไม่ได้ก้าวออกจากยานยนต์ จึงมีการกดปุ่มให้ระเบิดทำงานทั้งที่เป้าหมายการสังหารยังไปไม่ถึง
ในการนี้ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมมีจำนวน 3 ราย และหนึ่งในนั้นให้การรับสารภาพว่าเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกเกาหลีเหนือ
2. กรณีการวางระเบิดเครื่องบินโดยสารของสายการบินโคเรียนแอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1987 โดยเป็นเที่ยวบินจากกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก สู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีจุดแวะพักสองจุด คือ ยูเออี กับไทย
ผู้ก่อการร้ายเป็นจารชนมืออาชีพจากเกาหลีเหนือสองราย ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ทั้งสองใช้พาสปอร์ตปลอซึ่งเป็นพาสปอร์ตญี่ปุ่น และลักลอบนำระเบิดเวลาขึ้นไปบนเครื่องบินผ่านท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด และซุกไว้ในช่องวางกระเป๋าเหนือที่นั่ง ทั้งสองลงจากเครื่องที่สนามบินนานาชาติอาบูดาบี ประเทศยูเออี และต่อเครื่องไปยังประเทศบาห์เรน
การระเบิดทำลายเครื่องบินโคเรียนแอร์ได้เปรี้ยงปร้างขึ้นเหนือมหาสมุทรอันดามันในช่วงที่ใกล้จะถึงประเทศไทย ส่งผลให้ผู้คน 115 รายในเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด จารชนเกาหลีเหนือทั้งสองถูกจับกุมที่บาห์เรน ในเบื้องต้นถูกจับด้วยข้อหาใช้พาสปอร์ตปลอม เมื่อจวนตัวขึ้นมา ก็ได้ทำการกลืนเม็ดยาพิษไซยาไนด์ที่ซ่อนในมวนบุหรี่ (อุปกรณ์หนึ่งในชุดปฏิบัติการสายลับ) แต่จารชนหญิงไม่ตาย และเมื่อฟื้นตัวขึ้นมา ได้ให้การรับสารภาพอย่างละเอียด ส่งผลให้ถูกทางการเปียงยางประณามว่าเป็นคนทรยศ
มาถึงปัจจุบันนี้ เหตุการณ์เลือดนองแผ่นดินจากการปะทะต่อสู้ด้วยกระสุนและระเบิดระหว่างฝ่ายเกาหลีเหนือกับฝ่ายเกาหลีใต้ได้แผ่วตัวลงแล้ว
กระนั้นก็ตาม เกาหลีเหนือยังรักษาพลังก่อการร้ายไว้อย่างมหาศาลภายใต้ร่มเงาขององค์การจารชนอาร์จีบี ซึ่งมีประมาณการกันว่าอาร์จีบียังมีบุคลากรมหาศาลถึง 2 แสนคน โดยศักยภาพของอาร์จีบีในสหัสวรรษที่ 3 นี้ ถูกพัฒนาก้าวหน้ามากในด้านคอมมานโดจอมโจรไซเบอร์แห่งเปียงยาง ซึ่งแผลงฤทธิ์มากมายทั้งในส่วนของการแฮกข้อมูลข่าวกรอง และทั้งในส่วนของการแฮกโจรกรรมเงินดิจิทัล
วิสัยทัศน์ใหม่ของเกาหลีเหนือมุ่งให้ความสำคัญแก่การพัฒนาศักยภาพทางทหาร และจึงมีการลงทุนอย่างมโหฬารในอุตสาหกรรมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธ สินทรัพย์เหล่าของเปียงยางคือสิ่งที่นานาชาติหันมาจับตาระแวดระวังกันมากกว่าพวกกองกำลังคอมมานโดนักฆ่าทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอำนาจสายเอเชียตะวันออกคือ โซลและโตเกียวที่แนบชิดอย่างยิ่งกับวอชิงตัน ซึ่งติดตามพัฒนาการของเปียงยางอย่างใกล้ชิด
เปียงยางแห่งทศวรรษ 2020 ไม่เปลี่ยนเลย และคิมจองอึนไม่มีโซลอยู่ในสายตา - สนใจแค่จะคุยกับ US
“มันสอนผมถึงธรรมชาติของระบอบเกาหลีเหนือครับ ซึ่งผมดูแล้วว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย” วิสเซอร์ตั้งประเด็นไว้อย่างนั้น
ทั้งนี้ การที่ยังต้องวางกองกำลังตรึงไว้ทั้งสองฝั่งของแนวพรมแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ บ่งบอกว่าทั้งสองฝ่ายต้องยืนหยัดพิสูจน์ความชอบธรรมทางศีลธรรม
“หลังเหตุการณ์เรือดำน้ำเกยตื้นแล้ว คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายที่เข้าเจรจาขับเคี่ยวกันในประเด็นเล็กๆ ข้อเดียวเนิ่นนานเป็นเดือนๆ ว่าเกาหลีเหนือต้องกล่าวขออภัย แล้วก็จะปิดฉากความตึงเครียดลง” นักข่าวหนุ่มใหญ่บอก “แล้วในท้ายที่สุด เกาหลีเหนือก็ยอมขอโทษ แม้ว่า แน่ล่ะครับ การขออภัยนั้นไม่มีความจริงใจสักนิดเดียว รูปการณ์แบบนี้แสดงให้เห็นได้อย่างมากมายว่าความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั้นเป็นอย่างไร”
อีกบทเรียนหนึ่งคือ ในการจัดลำดับความสำคัญทางการทูตของเกาหลีเหนือ สายตาของเกาหลีเหนือมองรัฐบาลโซลเป็นแค่หุ้นส่วนตัวรองอยู่ในพันธมิตรเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเด็กในคาถาของรัฐบาลวอชิงตันผู้ทรงอานุภาพ
ดังเห็นได้ว่า ขณะที่เกาหลีใต้ โดยประธานาธิบดีมูนแจอิน ทุ่มเทเต็มที่กับการปรับปรุงความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ แต่หลังจากที่การประชุมสุดยอดเดือนมิถุนายน ปี 2018 ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นปฏิญญาปันมุนจอม ได้ไม่ถึงสองปี ประธานาธิบดีมูนต้องถูกหยามเกียรติ โดยในวันที่ 16 มิถุนายน 2020 เกาหลีเหนือได้ระเบิดทำลายสำนักงานประสานงานร่วมสองชาติเกาหลีที่เมืองแกซองในพื้นที่ของเกาหลีเหนือติดกับพรมแดนเกาหลีใต้ โดยสำนักงานแห่งนี้ถูกปิดไปตั้งแต่เดือนมกราคมปีเดียวกัน
“ถ้าคุณดูวิธีที่เกาหลีเหนือปฏิบัติต่อเกาหลีใต้ในตลอดที่ผ่านมา สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการมีเพียงแค่การได้ต่อสายตรงกับสหรัฐฯ” วิสเซอร์พูด “พวกเขาไม่มีท่าว่าจะแคร์อะไรกับสิ่งที่เกาหลีใต้คิดหรอกครับ”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: สกู๊ปจากเว็บไซต์ข่าวเอเชียไทมส์ The Diary of a Doomed Commando สัมภาษณ์โดย แอนดรูว์ แซลมอน หนังสือเรื่อง North Korea Never Says Sorry เอเอฟพี ยอนฮับ เอพี เว็บไซต์ข่าว dailynk.com วิกิพีเดีย และคอมมอนวิกิมีเดีย)