xs
xsm
sm
md
lg

จำไว้ใช้! ‘ไต้หวัน’ ตั้งคณะทำงานศึกษา ‘กลยุทธ์’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงกลาโหมไต้หวันตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากลยุทธ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยเฉพาะกลศึกของฝ่ายเคียฟที่สามารถยันทัพรัสเซียเอาไว้ได้นานถึง 5 สัปดาห์ และยังได้มีการหารือเรื่องนี้กับสหรัฐอเมริกาด้วย

ไต้หวันยกระดับการเฝ้าระวังความมั่นคงนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดศึกรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ด้วยเกรงว่า “จีน” อาจจะฉวยโอกาสทำแบบเดียวกัน แม้จะยังไม่ปรากฏสัญญาณเตือนใดๆ ก็ตาม

ความเป็นไปได้ที่สงครามยูเครนอาจส่งอิทธิพลต่อแนวคิดและยุทธศาสตร์ที่กองทัพจีนจะใช้โจมตีเกาะไต้หวันในอนาคต เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ไทเปตอนนี้

ชิว กั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ให้สัมภาษณ์สื่อที่รัฐสภาวันนี้ (31 มี.ค.) ว่า ทางกระทรวงได้ “ติดต่อ” กับรัฐบาลหลายประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครน และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่งเพื่อศึกษาบทเรียนจากสงครามครั้งนี้

ประเด็นที่ไต้หวันให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ศักยภาพด้านการทหารของรัสเซียซึ่งดูอ่อนปวกเปียกกว่าที่หลายคนคาดคิด รวมไปถึงยุทธวิธีต่างๆ ที่ยูเครนใช้ป้องกันดินแดนของตนเอง

“เราไม่ได้หารือเรื่องนี้กับสหรัฐฯ เพียงชาติเดียว แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ติดต่อกับไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ” ชิว กล่าว พร้อมระบุว่า คณะทำงานของไต้หวันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติ (National Defence University) ด้วย

“เราจะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ อย่างบุ่มบ่าม แต่จะมีการหารือภายใน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมกำลังป้องกันประเทศ และการเตรียมพร้อมรับศึกสงคราม”

แม้เจ้าหน้าที่ไทเปจะเล็งเห็นความเหมือนระหว่างยูเครนกับไต้หวัน รวมถึงในแง่ของการอยู่ประชิดติดกับชาติมหาอำนาจที่จ้องฮุบดินแดน ทว่าทั้ง 2 ดินแดนยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างกันอยู่มาก ตัวอย่างเช่น การที่ไต้หวันมีช่องแคบเป็น “ปราการธรรมชาติ” ซึ่งทำให้การยกพลขึ้นบกของทหารจีนทำได้ไม่ง่ายนัก ในขณะที่รัสเซียสามารถยาตราทัพข้ามพรมแดนทางบกเข้าไปยังยูเครนได้ทันที

ไต้หวันยังมีกองทัพอากาศขนาดใหญ่ที่ทันสมัย และกำลังยกระดับศักยภาพด้านการโจมตีด้วยขีปนาวุธอีกด้วย

จีนเริ่มแสดงแสนยานุภาพทางทหารกดดันไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ไทเปยืนกรานไม่ยอมรับการอ้างอธิปไตยของปักกิ่ง และย้ำว่าชาวไต้หวันเท่านั้นที่มีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น