ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุในวันจันทร์ (28 มี.ค.) เขาจะไม่ "ขอโทษ" และ "ไม่คืนคำ" หลังจากพูดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย "ไม่อาจอยู่ในอำนาจอีกต่อไป" จนถูกตอบโต้ว่าไม่เคารพเสียงของประชาชน ในความพยายามทิ้งประเด็นถกเถียงที่บดบังการเดินทางเยือนยุโรปของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ไว้เบื้องหลัง
ผู้นำสหรัฐฯ รายงานยืนกรานว่าเขาไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนการปกครองในมอสโก ซึ่งอาจกลายเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอเมริกากับรัสเซีย 2 ชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
"ผมแค่แสดงออกความไม่พอใจทางศีลธรรม ที่ผมรู้สึกกับชายคนนี้" ไบเดนกล่าว "ผมไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายใดๆ"
ความเห็นของประธานาธิบดีรายนี้ มีขึ้นในช่วงท้ายของการกล่าวปราศรัยที่กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ ในวันเสาร์ (26 มี.ค.) โดยมีความตั้งใจระดมแนวร่วมประชาธิปไตยในการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนานกับพวกเผด็จการ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน อย่างไรก็ตาม มันโหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ และก่อความวิตกแก่พันธมิตรบางส่วนในยุโรปตะวันตก
ในวันจันทร์ (28 มี.ค.) ไบเดน ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าความคิดเห็นของเขาอาจทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดในสงครามยูเครนลุกลามบานปลาย หรือจะเติมเชื้อไฟโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย เกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวของตะวันตก
"ไม่มีใครเชื่อหรอกว่าผมกำลังพูดเกี่ยวกับการโค่นล้มปูติน" ไบเดนกว่า "สิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำคือเข้าไปพัวพันในสงครามภาคพื้นหรือสงครามนิวเคลียร์กับรัสเซีย"
ไบเดนอ้างว่าเขาแค่แสดงออกถึงความปรารถนา และมันไม่ใช่เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ "คนแบบนี้ไม่ควรปกครองประเทศต่างๆ แต่พวกเขาปกครอง" ไบเดนระบุ "ข้อเท็จจริงคือ มันไม่ได้หมายความว่า ผมจะไม่สามารถแสดงความโกรธเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้"
คำพูดของไบเดนในวอร์ซอ ดังสะท้อนไปทั่วโลก แม้ทำเนียบขาวพยายามอย่างรวดเร็วในการออกมาชี้แจง ประธานาธิบดีรายนี้แค่หมายความว่า "ปูติน ไม่ควรถูกปล่อยให้ใช้อำนาจเหนือบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของเขาและภูมิภาคดังกล่าว"
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในวันจันทร์ (28 มี.ค.) ตอบโต้คำพูดของไบเดน โดยบอกว่า "เราจำเป็นต้องลดความตึงเครียด เราจำเป็นต้องลดความตึงเครียดทางทหาร และลดความตึงเครียดจากถ้อยคำโวหาร"
แม้บ่อยครั้ง ไบเดน อวดอ้างว่าสหรัฐฯ มีความเป็นหนึ่งเดียวกับพันธมิตรยุโรป นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน แต่ดูเหมือนคำพูดของเขาในวอร์ซอ ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานปูติน ได้ก่อความไม่สบายใจแก่พันธมิตรบางส่วน
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุในวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) ว่าเขาจะไม่ใช้ถ้อยคำแบบนี้ "เพราะผมยังคงเดินหน้าพูดคุยกับปูติน พวกเราต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้องกันไหม? เราต้องการหยุดสงครามของรัสเซียในยูเครน ไม่มีการเปิดศึกและไม่มีสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย"
แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องรุดออกมาชี้แจงคำพูดของไบเดนเช่นกัน ระหว่างการเดินทางเยือนตะวันออกกลาง ดินแดนที่เขามีความตั้งใจมุ่งเน้นสร้างความเป็นบึกแผ่นในหมู่พันธมิตรของสหรัฐฯ ในขณะที่รัฐบาลของเขากำลังหาทางรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน
ระหว่างแถลงข่างในเยรูซาเลม บลิงเคนอ้างว่า ไบเดน ไม่ได้เรียกร้องให้ขับไล่ประธานาธิบดีปูติน โดยกำลังชี้ให้เห็นว่า ปูติน ไม่ควรมีอำนาจในการทำสงครามหรือสู้รบรุกรานยูเครนหรือประเทศอื่นใดก็ตาม พร้อมบอกด้วยว่าการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับผู้นำในอนาคตของรัสเซียจะขึ้นอยู่กับประชาชนชาวรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ ไบเดน เคยกล่าวไปไกลเกินกว่าที่คาดหมายไว้ ครั้งที่เขาพูดถึงปูติน โดยเรียกผู้นำรัสเซียว่าเป็น "อาชญากรสงคราม" ในตอนที่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาล บอกว่าพวกเขายังอยู่ระหว่างตรวจสอบประเด็นดังกล่าว
เจน ซากิ เลขาธิการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบ ออกมาแก้ต่างในตอนนั้น ว่า ไบเดน เพียง "พูดออกมาจากใจ" และไม่ได้หมายถึงข้อสรุปทางกฎหมาย
(ที่มา : เอพี)