เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต้องพากันรุดออกมาชี้แจงพัลวันในวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) ว่าอเมริกาไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในรัสเซีย หลังจากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย "ไม่อาจอยู่ในอำนาจได้อีก" จนถูกมอสโกออกมาตอบโต้ว่าไม่เคารพต่อการเลือกของประชาชนชาวรัสเซีย
คำพูดของไบเดนระหว่างเยือนโปแลนด์ในวันเสาร์ (26 มี.ค.) ยังรวมถึงความเห็นที่เรียก ปูติน ว่า "คนโหดเหี้ยม" ดูเหมือนเป็นการปรับท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อมอสโกขึ้นอย่างมาก ต่อกรณีที่พวกเขายกพลรุกรานยูเครน
เครมลินตอบโต้ความคิดเห็นของไบเดน โดยระบุว่า "มันไม่ใช่การตัดสินใจของไบเดน ประธานาธิบดีรัสเซียเลือกโดยประชาชนชาวรัสเซีย"
ในขณะที่ผู้แทนทูตระดับสูงเรียงแถวออกมาชี้แจงในวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) ประธานาธิบดีไบเดน ถูกสอบถามโดยผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ตอนที่เขากำลังเดินทางออกจากโบสถ์แห่งหนึ่งในวอชิงตัน ว่าเขากำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียหรือไม่ ไบเดน ตอบกลับด้วยคำพูดเดียวสั้นๆ ว่า "ไม่"
นางจูเลียน สมิธ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนาโต้ พยายามอธิบายบริบทความเห็นของไบเดน โดยบอกว่ามันมีขึ้นหลังหนึ่งวันหลังจากพบปะพูดคุยกับพวกผู้ลี้ภัยชาวยูเครนในวอร์ซอ ในขณะที่การรุกรานที่ยืดเยื้อนาน 1 เดือนของรัสเซีย ผลักประชาชนชาวยูเครนราว 1 ใน 4 จากทั้งหมด 44 ล้านคน ต้องหลบหนีจากที่พักอาศัย
"ในช่วงเวลานั้นฉันคิดว่ามันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยธรรมชาติต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เขาได้ยินมาในวันนั้น" สมิธให้สัมภาษณ์กับรายการ "State of the Union" ของซีเอ็นเอ็น ก่อนระบุว่า "สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายเปลี่ยนการปกครองในรัสเซีย"
แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวในเยรูซาเลม แสดงความคิดเห็นว่า ไบเดน กำลังชี้ให้เห็นว่า ปูติน ไม่ควรมีอำนาจในการทำสงคราม และ บลินเคน บอกด้วยว่าการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับผู้นำในอนาคตของรัสเซียจะขึ้นอยู่กับประชาชนชาวรัสเซีย
สมาชิกพรรครีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์คำพูดของไบเดน โดยเรียกมันว่าเป็นความผิดพลาดที่เคราะห์ร้าย
เจมส์ ริสช์ วุฒิสมาชิกระดับสูงของรีพับลิกัน ในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา เรียกความเห็นของไบเดน ว่า คำพูดที่น่าลัวและปรารถนาว่าในวันข้างหน้าประธานาธิบดีรายนี้จะไม่พูดอะไรที่อยู่นอกเหนือจากสคริปต์อีก
"คนส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่รู้หรอกว่าคำพูด 9 คำที่เขาปริปากออกมา ก่อความครึกโครมแค่ไหน มันกำลังก่อปัญหาใหญ่" เขาบอกกับซีเอ็นเอ็น
วุฒิสมาชิก ร็อบ พอร์แมน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการเช่นกัน คร่ำครวญว่ามันเป็นก้าวย่างที่ผิดพลาดในช่วงเวลาสงคราม "มันเข้าทางพวกนักโฆษณาชวนเชื่อรัสเซีย และเข้าทางวลาดิมีร์ ปูติน ดังนั้นมันจึงเป็นความผิดพลาด"
สหรัฐฯ หาทางถ่วงดุลระหว่างเกิดความขัดแย้งในยูเครน เพื่อหลีกเลี่ยงเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงกับรัสเซีย พวกเขาส่งมอบอาวุธให้เคียฟ สำหรับนำไปสู้รบกับรัสเซีย แต่ปฏิเสธส่งทหารเข้าไปยังประเทศแห่งนี้หรือกำหนดเขตห้ามบิน
แนวทางสนับสนุนดังกล่าวช่วยเสริมแสนยานุภาพแก่ยูเครน ที่สามารถต้านทานการรุกรานได้อย่างดุเดือดผิดคาด และจนถึงตอนนี้รัสเซียยังคงล้มเหลวในการยึดเมืองหลักใดๆ ของยูเครน แม้การสู้รบล่วงเลยมากว่า 4 สัปดาห์แล้วก็ตาม
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องตะวันตกมอบรถถัง เครื่องบินและขีปนาวุธแก่ยูเครน เพื่อช่วยสกัดการรุกรานของกองกำลังรัสเซีย
ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทหารของยูเครนบอกว่าเวลานี้ รัสเซีย หวังแยกยูเครนออกเป็น 2 ส่วน ดังที่เกิดขึ้นกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พร้อมประกาศทำสงครามกองโจรเต็มรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศถูกแบ่งแยก
โอซานา มาร์คาโรวา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลรัสเซีย ระว่างให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวในสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) แต่เตือนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการในกรณีที่ ปูติน ยังคงอยู่ในอำนาจในโลกศิวิไลซ์
"สำหรับเรา มันชัดเจนว่ารัสเซียคือรัฐก่อการร้ายที่นำโดยอาชญากรสงครามคนหนึ่ง และทุกคนควรนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" มาร์คาโรวา กล่าว "ดังนั้น ฉันคิดว่ามันจะเป็นเรื่องยากลำบากที่จะบริหารรัฐหนึ่งๆ จากเมืองเฮก"
คอรี บูเคอร์ วูมิสมาชิก จากพรรคเดโมแครตของไบเดน และสมาชิกคณะกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภา กล่าวกับรายการ "Meet the Press" แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองใดๆ ไม่ใช่นโยบายของสหรัฐฯ แต่เขาไม่เห็นเลยว่าสงครามยูเครนจะมีจุดจบที่ดีสำหรับปูติน
"ผมไม่เห็นชัยชนะที่แท้จริงสำหรับเขา ประเทศของเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เขากำลังสูญเสียทรัพยากรสำคัญของประเทศไปในสงครามเลวร้ายนี้ ดังนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นจุดจบที่ดีสำหรับเขาได้อย่างไร" บูเคอร์ ระบุ
(ที่มา : รอยเตอร์)