xs
xsm
sm
md
lg

‘เซเลนสกี’ อ้อนรัฐสภาสหรัฐฯ ส่งอาวุธเพิ่ม กดดัน ‘ไบเดน’ ให้ยอมประกาศเขตห้ามบินสู้มอสโก ขณะที่ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เห็นพ้องเจรจายุติศึกทำท่าคืบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวปราศรัยกับรัฐสภาสหรัฐฯ โดยผ่านวิดีโอ เมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) โดยเขาวิงวอนขอความสนับสนุนให้แก่ประเทศของเขาซึ่งถูกกองทหารรัสเซียโอบล้อม
ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างคาดการณ์แง่ดีว่าจะสามารถตกลงสันติภาพกันได้ ก่อนหน้าการเจรจากันอีกรอบซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันพุธ (16 มี.ค.) ถึงแม้กองทหารแดนหมีขาวยังคงถล่มกรุงเคียฟ และเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ และเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้โอกาสกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านวิดีโอลิงก์ ซึ่งเขาอ้างอิงถึงโศกนาฏกรรมร้ายแรงในยุคใกล้ของอเมริกา ทั้งกรณีเพิร์ลฮาเบอร์ และ 9/11 เพื่อขออเมริกาส่งอาวุธเพิ่มมากขึ้นและแซงก์ชันคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้นอีก พร้อมคำอ้อนว่า “พวกเราต้องการพวกคุณตอนนี้แหละ”

ขณะที่รัสเซียถล่มโจมตีกรุงเคียฟและเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนไม่หยุด เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยกับสำนักข่าวอาร์บีซีเมื่อวันพุธ (16) ว่า ขณะนี้มีการหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับสถานะการให้ยูเครนเป็นประเทศที่เป็นกลาง รวมถึงการรับประกันด้านความมั่นคง และเขาคิดว่าใกล้บรรลุข้อตกลงบางส่วนแล้ว

ลาฟรอฟ เสริมว่า เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยเสนอทางเลือกสถานะประเทศที่เป็นกลาง รวมถึงการรับประกันด้านความมั่นคงสำหรับยูเครนโดยที่ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) มาแล้ว และสำทับว่า การเจรจาคงไม่ง่ายดายนักแต่มีความหวังที่สองฝ่ายจะประนีประนอมกันได้

รัฐมนตรีต่างประเทศแดนหมีขาวยังระบุว่า ประเด็นสำคัญในการหารือรวมถึงความปลอดภัยของประชาชนในยูเครนตะวันออก การกำหนดให้ยูเครนเป็นเขตปลอดทหาร และสิทธิของประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน

ทางด้านยูเครนแสดงความคิดเห็นแง่ดีอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า ยินดีเจรจาเพื่อยุติสงคราม แต่จะไม่ยอมจำนนหรือยอมรับคำชี้ขาดของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร ประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครน ระบุว่า การเจรจาสันติภาพมีโอกาสเป็นจริงมากขึ้นแต่ยังต้องใช้เวลา และเจ้าหน้าที่เคียฟบางคนแสดงความหวังว่า สงครามอาจจบเร็วกว่าคาดภายในเดือนพฤษภาคม โดยที่มอสโกอาจต้องยอมรับว่า ไม่สามารถใช้กำลังบีบบังคับเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในยูเครนขณะที่กำลังพลร่อยหรอลง

ในวันอังคารเซเลนสกี ยังแถลงยอมรับด้วยว่า คงไม่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ กระนั้นเขาก็ต้องการให้กลุ่มพันธมิตรทางการทหารซึ่งมองรัสเซียตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตเป็นปรปักษ์แห่งนี้ ให้หลักประกันด้านความมั่นคงรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งยังขอรับการสนับสนุนด้านอาวุธจากชาติสมาชิกนาโต้เพื่อรบกับรัสเซียที่ยังคงระดมโจมตีเมืองต่างๆ ของยูเครนไม่หยุดหย่อน รวมทั้งพยายามเข้ายึดกรุงเคียฟ

ทั้งนี้ ปูตินประกาศบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยโทษว่า อเมริกาพยายามคุกคามตนด้วยการขยายอิทธิพลของนาโต้ทางด้านตะวันออกจนจดหลังบ้านของรัสเซีย ดังนั้น รัสเซียจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเริ่มการปฏิบัติการทางทหารพิเศษ เนื่องจากประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนเป็นเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของลัทธิชาตินิยมและนาซีใหม่ในยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียในปี 2014 ขณะที่ยูเครนและตะวันตกตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี ในวันพุธ (16) เมื่อกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านวิดีโอตามที่ได้รับเชิญ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ใช้โอกาสนี้กล่าวโทษรัสเซียว่า เปลี่ยนน่านฟ้ายูเครนให้กลายเป็นแหล่งที่มาแห่งความตายของผู้คนเป็นพันๆ พร้อมกับอุทธรณ์โดยตรงต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยกล่าวว่า “การเป็นผู้นำของโลกหมายถึงการเป็นผู้นำของสันติภาพ”

ทั้งนี้ ไบเดนต้านทานเรื่อยมาไม่ยอมทำตามคำขอครั้งแล้วครั้งเล่าของเซเลนสกี ที่จะให้ส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครน ตลอดจนให้จัดตั้งเขตห้ามบินขึ้นเหนือน่านฟ้ายูเครน เนื่องจากมีอันตรายที่จะจุดชนวนให้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งไบเดนเตือนว่านั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 3

แต่ในเวลาเดียวกันนี้ อเมริกาและชาติสมาชิกอื่นๆ ของนาโต้ประกาศเมื่อวันพุธว่า จะช่วยยูเครนรบกับรัสเซียต่อไป ควบคู่กับการปรับระบบความมั่นคงของตนเองให้สอดรับกับ “ความเป็นจริงใหม่” หลังสงคราม

นักการทูตและนักวิเคราะห์ด้านการทหารประเมินว่า พันธมิตรนาโต้ได้จัดส่งระบบต่อต้านรถถังและอาวุธอื่นๆ ไปให้ยูเครนแล้วกว่า 20,000 ระบบนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตี

ทางด้านทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อร่วมประชุมสุดยอดนาโต้ในสัปดาห์หน้า จะเปิดเผยมาตรการช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ในวันพุธ โดยรวมถึงขีปนาวุธต่อต้านรถถังและอากาศยานที่ช่วยชะลอการบุกของรัสเซียตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โพสต์บนเว็บไซต์ระบุว่า สงครามคราวนี้นอกจากทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่รวมประชาชนอีก 3 ล้านคนที่อพยพออกจากยูเครนแล้ว ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมดด้วยการทำให้การเติบโตชะลอตัว ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น และส่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ทั้งการค้า ห่วงโซ่อุปทาน และการโอนเงินข้ามประเทศไปยังชาติเพื่อนบ้านของยูเครนชะงักงัน และสุดท้ายอาจทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

สงครามยูเครนยังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ กระตุ้นให้นักลงทุนขาดความมั่นใจซึ่งจะพลอยทำให้ราคาสินทรัพย์ทรุดลง สถานะการเงินตึงตัว และอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่

สำหรับเอเชียนั้น ไอเอ็มเอฟระบุว่า ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน รวมถึงอินเดีย และบางประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่มาตรการอุดหนุนพลังงานใหม่ๆ จะผ่อนคลายผลกระทบในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น