xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ โต้ข้อกล่าวหารัสเซีย ยันไม่มี ‘ห้องแล็บอาวุธเชื้อโรค’ ในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อครหาของรัสเซียที่อ้างว่าวอชิงตันมี “ห้องปฏิบัติการอาวุธชีวภาพ” อยู่ในยูเครน ระบุเป็นเรื่อง “น่าขำ” พร้อมชี้ว่าเป็นฝ่ายมอสโกต่างหากที่อาจจะนำอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพมาใช้ในยูเครน

เมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) รัสเซียได้หยิบยกข้อกล่าวหาเดิมที่มีมานานหลายปีแล้วว่า สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการในยูเครนเพื่อพัฒนาอาวุธชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้ถูกสื่อรัสเซียนำมาโหมกระพือในช่วงที่กองทัพหมีขาวเตรียมบุกยูเครน และยังมีการอ้างถึงล่าสุดเมื่อวันพุธ (9) โดย มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

“ข้อกล่าวหาของรัสเซียมันไร้สาระและน่าขำมาก มันไม่มีอะไรเลยจริงๆ เป็นแค่กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อแบบคลาสสิกของพวกเขาเท่านั้น” จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุเมื่อวานนี้ (9)

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า “รัสเซียจงใจกุเรื่องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้สิ่งที่พวกเขากำลังทำในยูเครน” ส่วน เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ทวีตข้อความว่า สิ่งที่รัสเซียอ้างนั้น “ไม่มีมูล” และเป็นฝ่ายมอสโกเองต่างหากที่มีประวัติชัดเจนว่าเคยใช้อาวุธเคมีทำร้ายฝ่ายตรงข้าม หนึ่งในนั้นคือ การพยายามลอบสังหาร "อเล็กเซย์ นาวัลนี" แกนนำฝ่ายค้านซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

ล่าสุด สถานทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นตอบโต้สหรัฐฯ ขณะที่มอสโกยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการลอบวางยาพิษ นาวัลนี จนอาการปางตาย

เมื่อวันพุธ (9) ซาคาโรวา อ้างว่ารัสเซียมีเอกสารยืนยันได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขยูเครนได้สั่งทำลายตัวอย่างของเชื้อกาฬโรค อหิวาตกโรค แอนแทรกซ์ และจุลชีพก่อโรคอื่นๆ ก่อนวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่กองทัพรัสเซียเริ่มเคลื่อนพลเข้าสู่ยูเครน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังอ้างด้วยว่า เอกสารที่ทหารรัสเซียยึดได้จากยูเครนแสดงให้เห็นถึง “ความพยายามอย่างเร่งด่วนที่จะทำลายหลักฐานของโครงการวิจัยด้านชีวภาพเพื่อการทหาร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเพนตากอน

โฆษกประธานาธิบดียูเครนออกมาระบุว่า “ยูเครนขอปฏิเสธข้อครหาเหล่านี้โดยสิ้นเชิง”

เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ ยูเครนมีห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดกับมนุษย์และสัตว์ ซึ่งห้องปฏิบัติการเหล่านี้ได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก (WHO)

โครงการลดความเสี่ยงด้านชีวภาพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Biological Threat Reduction Program) มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลยูเครน เพื่อให้มั่นใจว่าจุลชีพก่อโรคและสารพิษในห้องปฏิบัติการเหล่านี้จะถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัย และเมื่อช่วงปี 2020 ที่มีการหยิบยกข้อครหาเรื่องอาวุธชีวภาพ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟได้แถลงชี้แจงว่า การที่สหรัฐฯ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง “เพื่อให้มั่นใจว่าจุลชีพก่อโรคเหล่านี้จะไม่ตกไปอยู่ในมือคนผิด”

อดีตเจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเคียฟและวอชิงตันระบุว่า สหรัฐฯ ได้ช่วยเปลี่ยนห้องปฏิบัติการหลายแห่งในยูเครน ซึ่งแต่เดิมถูกสหภาพโซเวียตใช้เพื่อการทดลองอาวุธชีวภาพ ให้กลายมาเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น