รัสเซียในวันเสาร์ (5 มี.ค.) ได้กลับมาปฏิบัติการจู่โจมในยูเครน หลังได้ประกาศหยุดยิงก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน เปิดทางให้พลเรือนของ 2 เมืองที่ถูกปิดล้อมอพยพออกมา ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้องความช่วยเหลือด้านการทหารเพิ่ม รวมถึงเครื่องบินรบจากยุโรปตะวันออกผลิตโดยรัสเซียที่ทหารยูเครนมีความคุ้นเคย
"สืบเนื่องจากฝ่ายยูเครนไม่มีความตั้งใจใช้อิทธิพลโน้มน้าวประชาชนผู้รักชาติ หรือไม่ก็รัฐบาลยังคงนิ่งเฉย ปฏิบัติการการโจมตีจึงกลับมาเริ่มอีกครั้งตอน 18.00 น.ตามเวลามอสโก (ตรงกับเมืองไทย 22.000 น.)" อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลงผ่านวิดีโอ
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (5 มี.ค.) รัสเซียแถลงข้อตกลงหยุดยิงและบอกว่าพวกเขาได้เปิดแนวกันชนด้านมนุษยธรรมให้พลเรือนอพยพออกมาจากมาริยูโปล เมืองท่ายุทธศาสตร์ และเมืองโวลโนวากา ที่อยู่ติดกัน
อย่างไรก็ตาม โคนาเชนคอฟ บอกว่า "ไม่มีพลเรือนแม้แต่รายเดียวที่อพยพออกมาผ่านแนวกันชนด้านมนุษยธรรม ประชาชนของเมืองเหล่านี้ถูกกักโดยพวกชาตินิยมในฐานะเป็นโล่มนุษย์ พวกกองทหารชาตินิยมใช้ประกาศหยุดยิงรวมตัวกันใหม่ และเสริมกำลังทหารตามฐานที่มั่นต่างๆ ของพวกเขา"
เจ้าหน้าที่ในเมืองมาริยูโปล ซึ่งถูกทหารรัสเซียปิดล้อม ระบุในวันเสาร์ (5 มี.ค.) ว่าพวกเขากำลังเลื่อนอพยพพลเรือน พร้อมกล่าวหามอสโกละเมิดข้อตกลงหยุดหยิง
ยูเครนในวันเสาร์ (5 มี.ค.) เรียกร้องตะวันตกยกระดับความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศของพวกเขาที่ถูกปิดล้อม ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบ ในขณะที่ประธานาธิบดีวาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ส่งเสียงเตือนนาโต้หนักหน่วงขึ้น
"ความต้องการสูงสุดของพวกเราคือเครื่องบินรบ อากาศยานโจมตีและระบบป้องกันภัยทางอากาศ" ดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนบอกกับผู้สื่อข่าว "หากเราสูญเสียน่านฟ้า มันจะมีเหตุนองเลือดมากมายก่ายกองในภาคพื้น" เขากล่าวหลังจากพูดคุยกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
ด้านประธานาธิบดีเซเลนสกี ส่งเสียงวิงวอนด้วยความสิ้นหวังเช่นกัน ขอบรรดาประเทศยุโรปตะวันออกมอบเครื่องบินที่ผลิตโดยรัสเซีย เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ทางยูเครนใช้ฝึกบินมานาน จากการเปิดเผยของ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ หลังจากมีการประชุมทางไกลระหว่างบรรดาสมาชิกสภาอเมริกากับผู้นำยูเครน
ในขณะที่ความขัดแย้งเข้าสู่วันที่ 10 ประธานาธิบดีปูติน เตือนตะวันตกว่าสงครามอาจลุกลามปานปลายหากมีการจัดตั้งเขตห้ามบิน และบอกว่ามาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานประเทศของเขาเทียบเท่ากับประกาศสงคราม
จนถึงตอนนี้เสียงเรียกร้องของเซเลนสกีให้กำหนดเขตห้ามบินยังคงถูกปฏิเสธจากพวกผู้นำตะวันตก เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ยอมรับในวันศุกร์ (4 มี.ค.) ว่าการกำหนดเขตห้ามบินไม่ใช่ทางเลือกที่กำลังถูกพิจารณาโดยพันธมิตร
ส่วนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในวันศุกร์ (4 มี.ค.) ว่าการกำหนดเขตห้ามบินในยูเครนของอเมริกาและพันธมิตรนาโต้ อาจนำมาซึ่งสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป แต่บอกว่าวอชิงตันจะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรในการมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนในวิธีการต่างๆ ช่วยพวกเขาปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย
ในความพยายามทางการทูตอันคร่ำเคร่งล่าสุด นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเนตต์ แห่งอิสราเอล สร้างความประหลาดใจด้วยการเดินทางเยือนเครมลิน และหารือกับประธานาธิบดีปูตินเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ถือเป็นครั้งแรกที่ ปูติน พบปะแบบเผชิญหน้ากับผู้นำต่างชาติประเทศหนึ่งนับตั้งแต่ปฏิบัติการรุกรานเริ่มต้นขึ้น
ต่อมาผู้นำอิสราเอลได้พบปะพูดคุยกับ เซเลนสกี และเคียฟได้ร้องขออิสราเอล ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทั้งรัสเซียและยูเครน ให้เจรจากับมอสโก
สำหรับ เซเลนสกี ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในประเทศของเขาถูกทิ้งระเบิดราบเป็นหน้ากลองมากขึ้นเรื่อยๆ และทำเอาประชาชนอพยพหลบหนีแล้วกว่า 1.4 ล้านคน การที่พันธมิตรทหารตะวันตกปฏิเสธกำหนดเขตห้ามบินนั้น เทียบเท่ากับเป็นการให้ไฟเขียวให้ทิ้งระเบิดถล่มเมืองและหมู่บ้านต่างๆ หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก
นับตั้งแต่กองทัพของปูตินรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียถล่มเมืองต่างๆ ของยูเครน และเจ้าหน้าที่รายงานว่ามีพลเรือนถูกสังหารไปแล้วหลายร้อยคน อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้มอสโกยังเพิ่งยึดเมืองหลักๆ ได้เพียง 2 แห่ง ได้แก่ เมืองเบอร์เดียนสค์ และเมืองเคอร์ซอน ตามแนวชายฝั่งทะเลดำทางภาคใต้ของยูเครน
อย่างไรก็ตาม การยึดเมืองมาริยูโปล จะจำกัดการเข้าถึงทางทะเลของยูเครนเป็นอย่างมาก และเปิดทางให้กองกำลังรัสเซียเชื่อมต่อทางภาคพื้นกับกองทหารจากดินแดนผนวกไครเมียและดอนบาส
เครมลินบอกว่า กำลังรอการเจรจารอบ 3 กับยูเครนในเบลารุส และการเจรารอบใหม่จะมีขึ้นในวันจันทร์ (7 มี.ค.)
(ที่มา : เอเอฟพี)