xs
xsm
sm
md
lg

ดับฝันเคียฟ! EU ชี้ขั้นตอนรับสมาชิกใช้เวลาหลายปี สหรัฐฯ ก็เทเมินกำหนดเขตห้ามรัสเซียบินเหนือยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ลงสนามสมัครเป็นสมาชิกอียู ในวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์
ยูเครนในวันจันทร์ (28 ก.พ.) ลงนามในเอกสารยื่นคำร้องสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรก็ตาม ความหวังเข้าร่วมโดยทันทีมีอันพังทลาย หลังเจ้าหน้าที่อียูหลายคนยอมรับว่ากระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลานานหลายปี ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ต้องพบความผิดหวังซ้ำซ้อน เมื่อสหรัฐฯ เพิกเฉิยต่อเสียงเรียกร้องให้กำหนดเขตห้ามเครื่องบินของรัสเซียบินเหนือท้องฟ้ายูเครน ระบุจะนำมาซึ่งความขัดแย้งโดยตรงระหว่างมอสโกกับวอชิงตัน

ประธานาธิบดีเซเลนสกี โพสต์ภาพถ่ายตัวเองกำลังลงสนามสมัครเป็นสมาชิกอียู ความเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์ครั้งสำคัญในกระบวนการที่คงต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเป็นจริง และดูเหมือนว่ามันน่าจะทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย อยู่ไม่สุขและคงไม่นั่งดูอยู่เฉยๆ ในขณะที่ผู้นำรายนี้กล่าวหามานานว่าตะวันตกกำลังพยายามดึงยูเครนเข้าสู่เขตอิทธิพลของพวกเขา

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครน พบปะเจรจาสันติภาพกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ของสงคราม ท่ามกลางคำขู่นิวเคลียร์ของปูติน ในขณะที่ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียต้องเผชิญการต้านทานอย่างดุเดือดอย่างที่ไม่คาดหมายไว้

ในช่วงหัวค่ำวันจันทร์ (28 ก.พ.) ที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดียูเครน เปิดเผยว่าการเจรจารอบแรกกับรัสเซียสิ้นสุดลงแล้ว และคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางกลับบ้าน เพื่อกลับไปปรึกษาหารือในเมืองหลวงของพวกเขา

มีคาอิโล โปดอลยัค ที่ปรึกษาทำเนียบประธานาธิบดียูเครน ให้รายละเอียดแค่เล็กน้อย และบอกเพียงว่าการเจรจาที่จัดขึ้นใกล้ชายแดนยูเครน-เบลารุส มุ่งเน้นไปที่ความเป็นไปได้ในข้อตกลงหยุดยิง และการเจรจารอบ 2 จะมีขึ้น "ในอนาคตอันใกล้นี้"

เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาส่งสัญญาณหนุนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) โดยระบุว่าประเทศซึ่งกำลังถูกรัสเซียโจมตีอย่างหนักแห่งนี้ “เป็นส่วนหนึ่งของเรา” ในความเคลื่อนไหวซึ่งถือเป็นการท้าทายผู้นำหมีขาวที่พยายามยกประวัติศาสตร์มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการบุกยูเครน

อยางไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อียูหลายคนเน้นย้ำยึดมั่นในกระบวนการที่ใช้เวลานานหลายปี ดับความหวังของยูเครนในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูในทันที ที่อาจช่วยพวกเขายืนหยัดรับมือกับการโจมตีของรัสเซียได้ดีขึ้น และช่วยเร่งแรงสนับสนุนทั้งด้านการทหาร การเงินและการเมือง

ในขั้นนี้ ยูเครนยังคงอยู่ห่างไกลนานหลายปี จากการยกระดับมาตรฐานสำหรับการบรรลุเป้าหมายเป็นสมาชิกอียู และเวลานี้เองกลุ่ม 27 ชาติสมาชิกก็หมดความสนใจในการอ้าแขนรับสมาชิกใหม่ๆ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเปิดรับสมาชิกใหม่ใดๆ ในอนาคตอันใกล้

ยิ่งไปกว่านั้น การอ้าแขนรับประเทศใดๆ เข้าเป็นสมาชิกอียู จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ และบางรัฐสมาชิกมีกระบวนการอนุมัติที่ยุ่งยากซับซ้อน

โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ยอมรับเช่นกันว่าการยื่นขอเป็นสมาชิกใดๆ อาจต้องใช้เวลานานปลายปี

นอกจากฝั่งอียูแล้ว ยูเครนต้องได้ยินข่าวที่สร้างความผิดหวังซ้ำซ้อนมาจากฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน หลังทำเนียบขาวในวันจันทร์ (28 ก.พ.) แสดงปฏิกิริยาขานรับด้วยความเย็นชา ต่อข้อเสนอของประธานาธิบดีเซเลนสกี สำหรับกำหนดเขตห้ามบินสำหรับเครื่องบินของรัสเซียเหนือท้องฟ้ายูเครน โดยระบุว่าการเข้าร่วมใดๆ ของสหรัฐฯ ในความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเท่ากับเป็นความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งทางวอชิงตันไม่ต้องการ

เจน ซากิ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การบังคับใช้เขตห้ามบินจะเป็นก้าวย่างที่มุ่งหน้าสู่การส่งทหารสหรัฐฯ ไปสู้รบกับรัสเซีย ซึ่งเริ่มปฏิบัติการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ "จะไม่มีการบังคับใช้เขตห้ามบิน" เธอกล่าวและบอกว่า "มันจำเป็นต้องประจำการทหารสหรัฐฯ เพื่อบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจก่อความขัดแย้งโดยตรงและอาจก่อสงความกับรัสเซีย ซึ่งเป็นบางอย่างที่เราไม่มีแผนเป็นส่วนหนึ่งในนั้น"

เมื่อถามถึงมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการกำหนดเขตห้ามบินสำหรับเครื่องบินรัสเซีย ซากิ ตอบว่าทุกอย่างยังวางอยู่บนโต๊ะ แต่ด้วยที่เธอเน้นว่ามีสายการบินต่างๆ มากมายของสหรัฐฯ ที่บินผ่านรัสเซียไปยังเอเชียและที่อื่นๆ ของโลก มันจึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลที่อเมริกาลังเลบังคับใช้มาตรการดังกล่าว

ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านวิดีโอ ประธานาธิบดีซเลนสกี ไม่ได้พูดอย่างเจาะจงในข้อเสนอของเขาว่า มาตรการกำหนดเขตห้ามบินสำหรับเครื่องบินรัสเซียนั้นจะบังคับใช้อย่างไรและใครจะเป็นผู้บังคับใช้

(ที่มา : ไทมส์ออฟอิสราเอล/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น