xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาใหญ่ยูเอ็นเดินหน้าโดดเดี่ยวรัสเซีย นัดโหวตญัตติประณามการรุกรานยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - สมัชชาใหญ่ยูเอ็นเตรียมโดดเดี่ยวทางการทูตต่อรัสเซีย ด้วยการนัดโหวตประณามเครมลินในวันพุธ (2 มี.ค.) พร้อมเรียกร้องให้มอสโกยุติการสู้รบและถอนทหารออกจากยูเครนทันที

ค่ำวันอังคาร (1 มี.ค.) สมาชิกเกือบครึ่งจากทั้งหมด 193 ประเทศของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงนามเป็นผู้ร่วมสนับสนุนร่างญัตติดังกล่าวก่อนที่จะเปิดให้ลงมติในวันพุธ นักการทูตเผยว่า ร่างญัตตินี้มีข้อความประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ร่างญัตตินี้คล้ายกับร่างที่ถูกรัสเซียใช้อำนาจยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นที่มีสมาชิก 15 ชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 ก.พ.) อย่างไรก็ตาม ในสมัชชาใหญ่ฯ นั้นไม่มีประเทศใดมีอำนาจวีโต้ และนักการทูตตะวันตกคาดว่า ร่างญัตตินี้ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จะได้รับการรับรอง

แอนนาลินา แบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แถลงต่อสมัชชาใหญ่ฯ เมื่อวันอังคารว่า สงครามของรัสเซียตอกย้ำความจริงใหม่ ซึ่งทุกประเทศต้องตัดสินใจเลือกข้างอย่างเด็ดขาดและมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ คาดว่าหลายสิบประเทศจะงดออกเสียงหรือไม่เข้าร่วมการโหวตเลย ขณะที่ในการลงมติ 2 ครั้งเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนในคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่า จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) งดออกเสียง

ลานา นุสไซเบห์ เอกอัครราชทูตยูเออีประจำยูเอ็น กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ควรต้องเว้นช่องไว้สำหรับแนวทางการทูต ช่องทางต่างๆ ต้องเปิดกว้างและประเทศที่งดออกเสียงต่างมีช่องทางในการติดต่อกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และจะใช้ช่องทางเหล่านั้นช่วยเหลือและสนับสนุนสิ่งใดๆ ก็ตามที่สามารถทำได้

การลงมติของสมัชชาใหญ่ฯ จะมีขึ้นหลังจบการประชุมพิเศษฉุกเฉินที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งจัดโดยคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) และกว่า 100 ประเทศจะร่วมหารือในการประชุมนี้ก่อนลงมติ

ความเคลื่อนไหวของยูเอ็นขณะนี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2014 หลังจากรัสเซียเข้าผนวกไครเมียจากยูเครน

ครั้งนั้นคณะมนตรีความมั่นคงลงมติรับรองร่างญัตติต่อต้านการทำประชามติเกี่ยวกับสถานะของไครเมีย และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ไม่ยอมรับสถานะของไครเมีย แต่ถูกรัสเซียใช้อำนาจวีโต้

หลังจากนั้น สมัชชาใหญ่ฯ จึงลงมติรับรองร่างดังกล่าวที่ประกาศว่า การทำประชามติไม่ถูกต้อง โดยร่างญัตตินั้นได้รับเสียงสนับสนุนจาก 100 ประเทศ คัดค้าน 11 ประเทศ งดออกเสียงอย่างเป็นทางการ 58 ประเทศ และกว่า 20 ประเทศไม่เข้าร่วมประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น