ไต้หวันเผยจีนส่งเครื่องบินรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) แล้วอย่างน้อย 13 ลำ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการบุกยูเครนเต็มขั้นเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.)
กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า เครื่องบินขับไล่เสิ่นหยาง J-16 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินสอดแนมทางยุทธวิธี Y-8 อีก 1 ลำ ได้บุกเข้าไปในเขต ADIZ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24) ซึ่งทำให้กองทัพไต้หวันต้องส่งฝูงบินขับไล่ขึ้นประกบเตือน หลังจากนั้นในวันศุกร์ (25) ยังมีเครื่องบิน F-16 ของจีนอีก 4 ลำบินโฉบเข้ามาในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากส่งฝูงบินขับไล่ขึ้นไปเตือนแล้ว ไต้หวันยังได้ส่งสัญญาณวิทยุ และใช้ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานภาคพื้นดินเพื่อจับตาความเคลื่อนไหวของเครื่องบินจีนด้วย
Taiwan News รายงานว่า จีนมีการส่งเครื่องบินเข้าไปปฏิบัติการข่มขู่ในเขต ADIZ ของไต้หวันอย่างน้อย 40 ครั้งในเดือนนี้ หลังจากที่เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วได้ส่งเครื่องบินเข้าไปมากเป็นประวัติการณ์ถึง 150 ลำ จนทำให้ฝ่ายไต้หวันถึงกับประเมินว่าจีนอาจเปิดฉากรุกรานเต็มขั้นภายในปี 2025
เพียง 1 วันก่อนที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียจะประกาศ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับกรณีไต้หวัน
“แน่นอนว่าไต้หวันไม่ใช่ยูเครน” หัว ระบุในงานแถลงข่าว “ไต้หวันเป็นดินแดนที่ไม่เคยถูกแบ่งแยกออกจากจีนอยู่แล้ว นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายที่ไม่อาจโต้แย้งได้”
ต่อมาในวันพฤหัสบดี (24) หัว ยังปฏิเสธที่เรียกปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครนว่าเป็น “การรุกราน” (invasion) และโทษสหรัฐฯ ว่าเป็นฝ่าย “โหมกระพือไฟขัดแย้ง”
จีนเป็นมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่ไม่ออกมาแถลงประณามมอสโกเรื่องการบุกยูเครน
หัว ย้ำว่าจีนคาดหวังที่จะเห็นปัญหายูเครนถูกแก้ไขด้วยแนวทางสันติวิธี แต่ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าสิ่งที่รัสเซียทำอาจไปกระตุ้นความ “ฮึกเหิม” ของปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกตะวันตกดูเหมือนจะยังไม่มีมาตรการที่รุนแรงถึงขั้นทำให้ ปูติน สะทกสะท้านได้เลย
“แม้ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะไม่ออกมาสนับสนุนสิ่งที่ ปูติน ทำ แต่เขาก็ไม่ได้ประณาม” แจ็ค คีน นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์อาวุโสของฟ็อกซ์นิวส์ให้ความเห็น “จีนออกมาพูดเรื่องการเจรจา เรื่องทางสายกลาง แต่คุณเชื่อได้เลยว่าพวกเขากำลังเฝ้าดูสถานการณ์อยู่ และสิ่งที่พวกเขาเห็นคือความอ่อนแอของชาติตะวันตก และลู่ทางที่จีนจะได้ประโยชน์จากมันในแง่ของเป้าหมายแห่งชาติ”
รอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาล “เพิ่มมาตรการป้องกันสงครามทางความคิด (cognitive warfare)” ในกรณีที่ “กองกำลังต่างชาติอาจพยายามฉวยสถานการณ์ในยูเครน เพื่อบั่นทอนขวัญกำลังใจของชาวไต้หวัน”
ด้านนายกรัฐมนตรี ซู เจิงชาง แห่งไต้หวัน แถลงเมื่อวันศุกร์ (25) ว่าไต้หวันพร้อมที่จะร่วมมือกับชาติประชาธิปไตยทั้งหลายเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ยังไม่ได้แถลงรายละเอียด
ที่มา : yahoo news