ยูเครนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันพุธ (23 ก.พ.) และแจ้งให้พลเมืองที่อยู่ในรัสเซียเดินทางกลับมาตุภูมิทันที หลังจากมอสโกเริ่มอพยพเจ้าหน้าที่ในสถานทูตประจำกรุงเคียฟ ในสัญญาณลางร้ายล่าสุดสำหรับชาวยูเครนที่หวั่นเกรงว่ารัสเซียอาจเปิดปฏิบัติการโจมตีเต็มรูปแบบ
เหตุยิงระเบิดโจมตีกันไปมาตามแนวชายแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนเริ่มหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เมื่อวันอังคาร (22 ก.พ.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เพิ่งประกาศรับรองเอกราชของ 2 เขตกบฏที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย และสั่งให้กองกำลังมอสโกเข้าประจำการในดินแดนดังกล่าวในฐานะ "กองกำลังรักษาสันติภาพ"
ผู้เห็นเหตุการณ์เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่าขบวนยุทโธปกรณ์ทางทหาร ในนั้นรวมถึงรถถัง 9 คัน ได้เคลื่อนจากชายแดนของรัสเซีย เข้าสู่เมืองโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ปูติน จะลงมือโจมตีครั้งใหญ่เล่นงานยูเครนหรือไม่ แม้ระดมกองกำลังมากกว่า 100,000 นายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ในขณะที่เจ้าหน้าที่กลาโหมรายหนึ่งของสหรัฐฯ เชื่อว่ากองกำลังรัสเซียพร้อมแล้วสำหรับการลงมือโจมตี
"ให้คาดเดาว่าก้าวย่างต่อไปของรัสเซียคืออะไร ให้เดาการตัดสินใจของพวกแบ่งแยกดินแดนหรือการตัดสินใจส่วนตัวของประธานาธิบดีรัสเซีย ผมไม่อาจล่วงรู้ได้" ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ โซเลนสกี แห่งยูเครนกล่าว
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วันผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวันพุธ (23 ก.พ.) โดยมีเป้าหมายช่วยหล่อหลอมแนวทางตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการรุกรานของรัสเซีย
มาตรการที่ได้รับความเห็นชอบอย่างท่วมท้นนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่มอสโกเริ่มต้นอพยพบรรดาเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตในกรุงเคียฟ และวอชิงตันยกระดับคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสที่รัสเซียจะลงมือโจมตีเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเปิดทางให้รัฐบาลเขตต่างๆ ของยูเครน บังคับใช้มาตรการความมั่นคงขั้นสูงสุด ไล่ตั้งแต่ค้นเอกสารสำคัญประจำตัวของประชาชนและตรวจค้นยานพาหนะเข้มข้นขึ้น ให้อำนาจรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวถ้าจำเป็น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถเข้าควบคุมบริการการสื่อสารทางวิทยุและดิจิทัลที่อาจทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนขึ้น และสั่งการไม่ได้ทหารกองหนุนเดินทางออกนอกประเทศ
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ครอบคลุมระยะเวลา 30 วัน
"ข่าวกรองจากพันธมิตรต่างชาติของเราทั้งหมด เช่นเดียวกับข่าวกรองและการวิเคราะห์ของเราเอง พบว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้ายึดประเทศของเรา หากไม่ลงมือบั่นทำลายเสถียรภาพสถานการณ์ภายในประเทศเสียก่อน" โอเลคซีย์ ดานิลอฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงและกลาโหมของยูเครนกล่าว
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้กับทุกพื้นที่ของยูเครน ยกเว้นแต่ 2 เขตแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ดินแดนที่เกิดการก่อกบฏนองเลือดเข่นฆ่าชีวิตผู้คนแล้วมากกว่า 14,000 นาย นับตั้งแต่ปี 2014
วิตาลี คลิทช์โก นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมากและการนัดหยุดงาน" จะถูกสั่งห้ามทั่วประเทศ ภายใต้กฎระเบียบใหม่
นอกจากนี้ เขายังพูดถึงมาตรการต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจงที่จะบังคับใช้ในกรุงเคียฟ ในนั้นรวมถึงตั้งจุดตรวจบริเวณทางเข้าหลักที่มุ่งหน้าสู่เมืองหลวงแห่งนี้ เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมเข้มข้นเป็นพิเศษตามสถานีรถไฟและสนามบินต่างๆ "เราต้องพร้อมปกป้องบ้านของเรา ครอบครัวของเรา เมืองและประเทศของเราทุกเมื่อ" คลิทช์โก กล่าว
ปูติน ประกาศรับรองเอกราชของ 2 เขตกบฏในวันจันทร์ (21 ก.พ.) โหมกระพือความกังวลมากขึ้นไปอีกว่าสงครามอาจใกล้ปะทุขึ้นแล้ว
ขณะเดียวกัน ปูติน ยังได้ลงนามในกฤษฎีกา เปิดทางให้กองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซียเข้าประจำการใน 2 เขตกบฏ เพื่อสนับสนุนคำประกาศรับรองเอกราช
ผู้นำรัสเซียบอกในวันอังคาร (22 ก.พ.) ว่าการตัดสินใจของเขาในการส่งทหารเข้าประจำการ จะขึ้นอยู่กับ "สถานการณ์ในภาคสนาม" แต่รายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ เต็มไปด้วยคำพูดของบรรดาพวกผู้นำกลุ่มกบฏในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่กล่าวหาทหารยูเครนเปิดฉากโจมตีนองเลือดใส่พลเรือนโดยไม่มีเหตุยั่วยุใดๆ ในขณะที่ยูเครนปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว
ในสถานการณ์ความตึงเครียดที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว การสู้รบทั่วแนวหน้าทางตะวันออกของยูเครนโหมกระพือดุเดือดขึ้นนับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว หลังอยู่ในภาวะสงบมานานนับเดือน
ยูเครนรายงานว่า มีทหาร 6 นาย และพลเรือน 1 รายเสียชีวิต ในเขตต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)