การประท้วง “ฟรีดอม คอนวอย” ของพวกประท้วงต่อต้านมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อสกัดโควิด-19 ยังไม่ยอมจบ ถึงแม้ตำรวจแคนาดาสามารถสลายพวกที่ปิดสะพานสำคัญในการเชื่อมโยงการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้ว ทว่าเหล่าผู้ประท้วงยังปักหลักชุมนุมในกรุงออตตาวา ทำให้ย่านใจกลางเมืองหลวงแคนาดาแห่งนี้เป็นอัมพาต และสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมืองที่ต้องได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน ทางฝั่งยุโรป ขบวนรถยนต์ รถบ้าน และรถบรรทุกนับร้อยคันของผู้ประท้วงที่นั่นมุ่งหน้าออกจากฝรั่งเศสจ่อเข้าสู่กรุงบรัสเซลส์ในวันจันทร์ (14 ก.พ.)
รถชนิดต่างๆ ราว 1,300 คันจากทั่วฝรั่งเศสเดินทางใกล้ถึงเมืองลิลล์ ที่ติดกับชายแดนเบลเยียมตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (13) ผู้ประท้วงบางคนเผยว่า จะมุ่งหน้าสู่บรัสเซลส์เพื่อต่อสู้ให้ทางการยกเลิกนโยบายจำกัดควบคุมแบบถาวร และบางคนสำทับว่า การรับมือวิกฤตโควิดของรัฐบาลฝรั่งเศสฟ้องว่า ประชาชนกำลังสูญเสียเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีการแอบแฝง ทั้งนี้ บรัสเซลส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเบลเยียม ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหลักๆ ของสหภาพยุโรป จึงถูกถือเป็นสัญลักษณ์ของอียูด้วย
ก่อนหน้านี้ ตอนช่วงค่ำวันศุกร์ (11) ตำรวจฝรั่งเศสเผยว่า มีรถ 3,000 คันชุมนุมนอกปารีส แต่เมื่อถึงวันเสาร์ (12) มีรายงานว่ารถราวๆ ร้อยคัน เล็ดลอดผ่านไปได้ถึงประตูชัย ฌองส์เอลิเซส์ ใจกลางปารีส ก่อนถูกตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมและมีผู้ประท้วงถูกจับ 97 คน
กลุ่มผู้ประท้วงในฝรั่งเศสที่เรียกตัวเองว่า “ฟรีด้อม คอนวอย” เช่นเดียวกับต้นแบบ นั่นคือพวกคนขับรถบรรทุกในแคนาดา ประกาศจุดมุ่งหมายต้องการต่อต้านการบังคับใช้ “ใบรับรองการฉีดวัคซีน” ที่ต้องแสดงเมื่อจะเข้าใช้บริการในร้านอาหาร ร้านกาแฟ และสถานที่สาธารณะอื่นๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง นอกจากนั้น ผู้ประท้วงบางส่วนยังไม่พอใจที่ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่นำไปสู่การประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้ฝรั่งเศสในช่วงปลายปี 2018 ถึงต้นปี 2019 มาแล้ว
รัฐบาลฝรั่งเศสนั้นเผยว่า มีแผนผ่อนคลายการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในวันที่ 28 เดือนนี้ และหวังว่า จะยกเลิกคำสั่งแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนในปลายเดือนหน้าหรือต้นเดือนเมษายน
นอกจากกลุ่มผู้ประท้วงจากฝรั่งเศสแล้ว ผู้เข้าร่วมการประท้วงลักษณะเดียวกันในกรุงเฮก เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ก็ประกาศเจตนารมณ์เคลื่อนขบวนไปบรัสเซลส์เช่นเดียวกัน
ทางด้านเบลเยียมประกาศแบนการประท้วงที่ใช้รถยนต์ทั้งหมดในบรัสเซลส์ และใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อสกัดไม่ให้ขบวนรถผู้ประท้วงเข้าสู่เมืองหลวงของตน เช่น โพสต์เตือนบนโซเชียลมีเดียว่า ไม่อนุญาตให้นำรถเข้าร่วมการประท้วง พร้อมแนะนำให้ประชาชนงดเดินทางเข้าบรัสเซลส์ด้วยรถยนต์ และจัดพื้นที่นอกบรัสเซลส์ให้ขบวนรถบรรทุกไปชุมนุมประท้วง
เบลเยียมยังวางแผนตั้งจุดตรวจบริเวณชายแดน รวมถึงตรวจรถที่จะเข้าสู่บรัสเซลส์ ขณะที่สนามบินในบรัสเซลส์แนะนำให้นักเดินทางเดินทางไปสนามบินด้วยรถไฟแทน เนื่องจากเกรงว่า อาจมีการปิดถนนบางสาย
การประท้วง “ฟรีดอม คอนวอย” กลายเป็นกระแสที่ถูกเลียนแบบไปทั่วโลก โดยที่ต้นแบบมาจากการเผชิญหน้าระหว่างพวกคนขับรถบรรทุกกับรัฐบาลแคนาดา จากกรณีการบังคับให้พวกคนขับต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันนอกจากแคนาดาและฝรั่งเศสแล้ว ยังมีการประท้วงเช่นนี้ในเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขณะที่คนขับรถบรรทุกในอเมริกาบางส่วนเล็งจัดการประท้วงในเดือนมีนาคม
สำหรับที่แคนาดานั้น เมื่อวันอาทิตย์ (13) ตำรวจสามารถเคลียร์ผู้ประท้วงไม่กี่สิบคนซึ่งยึดสะพานแอมบาสซาเดอร์ ที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อสำคัญและรองรับการค้า 25% ระหว่างแคนาดากับอเมริกา หรือคิดเป็นมูลค่าวันละ 360 ล้านดอลาร์ หลังจากสะพานแห่งนี้ถูกปิดมาเกือบ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ยังคงมีผู้ประท้วงปักหลักชุมนุมยึดย่านใจกลางกรุงออตตาวาเป็นสุดสัปดาห์ที่สาม
แต่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็คือ เมื่อวันอาทิตย์ (13) มีกลุ่มต่อต้านผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคน ออกมาสกัดพวกยานพาหนะที่พยายามเข้าร่วมการประท้วงในย่านกลางกรุง โดยพวกเขาบอกว่ารู้สึกหงุดหงิดผิดหวังที่ตำรวจไม่จัดการอะไรกับพวกประท้วงซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวเมืองมาเป็นสัปดาห์แล้ว
นอกจากนั้น ในโซเชียลมีเดียยังมีการเผยแพร่ภาพตำรวจหลายคนเข้าคลุกคลีกับกลุ่มผู้ประท้วงในออตตาวา บางคนช่วยกางเต็นท์ของผู้ประท้วงที่ล้มลงมาให้กลับเข้าที่ มีตำรวจคนหนึ่งประกาศว่าเขาสนับสนุนผู้ประท้วง 100% ขณะที่ฝ่ายทหารระบุว่า มีตำรวจปฏิบัติการพิเศษอย่างน้อย 2 คนถูกสอบสวนในข้อหาสนับสนุนการประท้วง
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)