xs
xsm
sm
md
lg

โควิดทำพิษ! ขนส่งจีนชะงักทำ ‘ฮ่องกง’ ผักเกลี้ยงตลาด ด้านผู้ว่าฯ ยัน 'คุมโควิดเป็นศูนย์’ ต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฮ่องกงกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนผักในท้องตลาด ขณะที่ประชาชนต่างพากันกักตุนอาหารที่พอจะหาซื้อได้ หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้การขนส่งจากสินค้าประเภทของสดจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามายังฮ่องกงลดน้อยลง

แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดประจำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เตรียมประกาศขยายมาตรการคุมเข้มโควิดในวันนี้ (8 ก.พ.) หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ของฮ่องกงพุ่งสูงกว่า 600 รายในวันจันทร์ (7) ขณะที่สถานีโทรทัศน์ TVB รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันสำหรับวันนี้ (8) ไม่ต่ำกว่า 380 ราย และอีก 400 รายมีผลตรวจเบื้องต้นเป็น “บวก”

ลัม ระบุในงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่า ผักสดในท้องตลาดมีปริมาณลดลงในช่วงนี้เนื่องจากคนขับรถบรรทุกสินค้าจากจีนติดโควิด-19 แต่ไม่ได้ให้แนวทางว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ซูเปอร์มาร์เกตหลายแห่งในฮ่องกงแทบไม่มีผักเหลืออยู่บนชั้นวาง ขณะที่ประชาชนแห่เข้าตลาดสดเพื่อจับจ่ายซื้อผักผลไม้ที่ยังพอหาได้ ส่วนสินค้าอื่นๆ ยังมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภค


เช้าวันนี้ (8) ที่ตลาดแห่งหนึ่งในย่านหว่านไจ๋ พนักงานจากร้านขายผัก Qiandama ต้องตะโกนบอกผู้ซื้อว่า ไม่ต้องเข้ามาในร้าน เพราะ “ผักหมดแล้ว” และข้างในมีคนเบียดเสียดแย่งซื้อของราวกับเป็น “สนามรบ”

ร้านที่นำเข้าผักผลไม้จากจีนแผ่นดินใหญ่บางแห่งตัดสินใจปิดตัวชั่วคราว ขณะที่บางแห่งก็ขายในราคาที่แพงกว่าเดิมเท่าตัว

ผู้ว่าฯ ฮ่องกงย้ำว่า ยุทธศาสตร์ “โควิดเป็นศูนย์” ของจีนยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้การระบาดในพื้นที่ต่างๆ ยุติลงโดยเร็ว ขณะที่หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่บทบรรณาธิการในฉบับวันจันทร์ (7) สนับสนุนให้รัฐบาลฮ่องกงปฏิบัติตามนโยบายควบคุมโรคของปักกิ่ง

นโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวดส่งผลให้ฮ่องกงเปลี่ยนจากศูนย์กลางธุรกิจและฮับการเดินทางของโลก กลายเป็นหนึ่งใน “เมืองโดดเดี่ยวที่สุด” ในเวลานี้ เที่ยวบินเข้า-ออกลดลงถึง 90% ขณะที่โรงเรียน สนามเด็กเล่น โรงยิม และสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ถูกสั่งปิดชั่วคราว

การที่ภาครัฐใช้มาตรการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอย่างครอบคลุมยังส่งผลให้สถานกักตัวของรัฐในฮ่องกงมีจำนวนผู้กักตัวใกล้เกินจุดสูงสุดที่รับได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ “ปิดตัวเอง” เช่นนี้ไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืน และอาจกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ลดลง และเด็กๆ ซึ่งไม่สามารถไปโรงเรียนได้

ที่มา : รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น