รายงานขององค์การสหประชาชาติเผย กลุ่มตอลิบานและพันธมิตรได้สังหารอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานชุดที่แล้ว รวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และพลเรือนที่ทำงานให้กองกำลังนานาชาติไปกว่า 100 คน นับตั้งแต่ยึดอำนาจในกรุงคาบูลได้เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว
รายงานซึ่ง อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ จัดทำเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น บรรยายถึงการลิดรอนสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มผู้ปกครองที่ตีความหลักศาสนาแบบสุดโต่ง และนอกจากการล่าสังหารกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามแล้ว ตอลิบานยังจำกัดสิทธิสตรี และสิทธิของประชาชนในการออกมาชุมนุมอย่างสันติด้วย
“แม้จะมีประกาศอภัยโทษให้แก่อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และพลเรือนที่เคยทำงานให้กองกำลังนานาชาติ ทว่าภารกิจช่วยเหลือของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน (United Nations Assistance Mission in Afghanistan - UNAMA) ยังคงได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า มีการสังหาร บังคับสูญหาย และการล่วงละเมิดอื่นๆ เกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มนี้” รายงานที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนวานนี้ (30 ม.ค.) ระบุ
นับตั้งแต่กรุงคาบูลตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือตอลิบานเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ปีที่แล้ว UNAMA ก็ได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตามล่าสังหารอดีตเจ้าหน้าที่และพลเมืองอัฟกันมากกว่า 100 กรณี และกว่า 2 ใน 3 เป็นการ “ฆ่าแบบไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม” โดยรัฐบาลตอลิบานหรือกลุ่มติดอาวุธพันธมิตร
รายงานระบุด้วยว่า ทุกวันนี้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนในอัฟกานิสถานก็ยังตกเป็นเหยื่อ “การโจมตี การข่มขู่ การจับกุมตามอำเภอใจ การปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม และการฆาตกรรม” ขณะที่รัฐบาลตอลิบานยังปิดกั้นการชุมนุมประท้วงโดยสันติ และไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงและเด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน
“ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อนกำลังถูกปิดตัวลง” กูเตียร์เรส ระบุ
การยึดอำนาจของตอลิบานทำให้ชาติตะวันตกแห่ระงับความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน และยังปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุนและทรัพย์สินในต่างประเทศอีกนับพันๆ ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้หายนะด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อัฟกานิสถานพึ่งพาเงินอุดหนุนที่ต่างชาติมอบให้แก่รัฐบาลคาบูลซึ่งมีสหรัฐฯ หนุนหลัง แต่หลังจากตอลิบานกลับมาเรืองอำนาจ การจ้างงานก็เริ่มหมดไป และพนักงานรัฐส่วนใหญ่ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนมานานหลายเดือนแล้ว
ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดในโลกให้การรับรองรัฐบาลตอลิบาน โดยต่างก็เฝ้าจับตาว่า กลุ่มอิสลามิสต์ฮาร์ดไลน์ซึ่งฉาวโฉ่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ปกครองอัฟกานิสถานครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน จะกลับมาลิดรอนเสรีภาพพลเมืองเหมือนเดิมอีกหรือไม่
ด้วยปัญหาความยากจนและผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลในหลายพื้นที่ ทำให้ยูเอ็นออกมาเตือนว่า ประชากรอัฟกัน 38 ล้านคนเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
ที่มา : เอเอฟพี