ธนาคารกสิกรไทยปลื้มบลูมเบิร์กยกให้อยู่ในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศ Bloomberg Gender-Equality Index ประจำปี 2565 นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความสำเร็จการเป็นองค์กรที่ยืนหยัดในนโยบายการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมโดยเปิดพื้นที่รับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์คุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารเชื่อมั่นในหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาโดยตลอด และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้วยความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องการเคารพในความแตกต่างหลากหลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเสมอภาคตั้งแต่ระดับกรรมการจนถึงพนักงานทุกระดับ ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก ประจำปี 2565 (Bloomberg Gender-Equality Index 2022) โดยนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับด้านความเสมอภาคทางเพศในมาตรฐานสากลเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยธนาคารกสิกรไทยมีคะแนนรวม (GEI Score) ที่ 83.81% สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มการเงินทั่วโลกที่ 72.62% และคะแนนค่าเฉลี่ยรวมของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของโลกที่ 71.01% สะท้อนความสามารถการบริหารความแตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศ อายุ การศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 5 Gender Equality หรือความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีนโยบายการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเท่าเทียมมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องความหลากหลาย ในมุมมองของธนาคารไม่ได้มองแค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน หรือความเท่าเทียม ซึ่งมีหลายมิติ ไม่ว่าจะในเรื่องเพศ อายุ รูปร่าง เชื้อชาติ การศึกษา ถิ่นที่อยู่ โดยธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายตั้งแต่ระดับพนักงาน ผู้บริหาร ไปจนถึงคณะกรรมการธนาคาร และมองว่าความหลากหลายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และมุมมองในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และมีการปลูกฝังวัฒธรรมองค์กรที่ยอมรับความแตกต่าง มองการวัดผลงานที่ความสามารถอย่างเท่าเทียมเป็นหลัก
นอกจากนี้ ธนาคารยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เช่น หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) หลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Bill of Human Rights) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (Principles of the United Nations Global Impact : UNGC) และธนาคารมีนโยบายห้ามการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันแรงงาน ห้ามการล่วงละเมิดหรือข่มขู่คุกคามอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง ความนิยมทางเพศ หรือความพิการ เพื่อให้พนักงานปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานด้วยความเคารพ
น.ส.ขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารเชื่อมั่นว่าทุกคนมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ธนาคารทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานสามารถดึงจุดแข็งของตนเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงาน และพนักงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการให้แก่ลูกค้าและสร้างแรงขับเคลื่อนให้ธนาคารเป็นสถาบันการเงินชั้นนำอย่างยั่งยืน