xs
xsm
sm
md
lg

เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2 ลำ เข้ายั่ว ‘มังกร’ ในทะเลจีนใต้ ขณะปักกิ่งส่งอากาศยานหลายสิบลำหยั่งเชิงไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วินสัน ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมอเมริกันแถลงว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินของตน 2 หมู่ ซึ่งหมู่หนึ่งนำโดยเรือลำนี้ และอีกหมู่หนึ่งนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น แล่นเข้าทะเลจีนใต้เพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ ตั้งแต่วันอาทิตย์ (23 ม.ค.)
หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2 หมู่ แล่นเข้าสู่ทะเลจีนใต้แล้วเพื่อการฝึกและสร้างความมั่นใจให้แก่พันธมิตร กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงในวันจันทร์ (24 ม.ค.) ขณะที่ไต้หวันรายงานว่า จีนส่งเครื่องบินทหารหลายสิบลำ รวมทั้งไอพ่นแบบใหม่ใช้ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นที่คร้ามเกรงกัน ล่วงล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน

ทะเลจีนใต้ และไต้หวันที่ปักกิ่งถือเป็นมณฑลกบฏของตน เป็นประเด็นด้านดินแดนซึ่งมีความอ่อนไหวมากที่สุดของจีน และทั้ง 2 พื้นที่นี้เป็นจุดที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอยู่เสมอ

ทั้งนี้ เรือรบของนาวีสหรัฐฯ มักแล่นเฉียดใกล้เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ซึ่งจีนยึดครองเอาไว้อยู่เป็นประจำ เพื่อท้าทายการอ้างอธิปไตยของแดนมังกร ตลอดจนแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ซึ่งทำให้ปักกิ่งเดือดดาล

คำแถลงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของกองทัพเรือสหรัฐฯ 2 หมู่ นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส วินสัน และเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในทะเลจีนใต้เมื่อวันอาทิตย์ (23) ซึ่งประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติการสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ ปฏิบัติการสงครามทางอากาศ และปฏิบัติการสกัดกั้นทางทะเล เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรบให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

การฝึกเหล่านี้จะดำเนินอยู่ในน่านน้ำระหว่างประเทศและเป็นการปฏิบัติสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ คำแถลงของเพนตากอนกล่าวต่อ แต่ไม่ให้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้

คำแถลงยังอ้างคำพูดของ พลเรือตรี เจ. ที. แอนเดอร์สัน ผู้บัญชาการหมู่เรือโจมตีที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งกล่าวว่า “การปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้จะเปิดทางให้สหรัฐฯ ปรับปรุงยกระดับสมรรถนะการสู้รบที่เชื่อถือได้ของเรา และสาธิตถึงความเด็ดเดี่ยวของเราในฐานะของการเป็นกองทัพเรือ เพื่อรับประกันเสถียรภาพในภูมิภาค และต่อต้านอิทธิพลที่ชั่วร้าย”

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ รายงานในวันอาทิตย์ (23) ว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสอง ได้ร่วมซ้อมรบกับกองทัพเรือญี่ปุ่นในทะเลฟิลิปปินส์ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมน่านน้ำด้านตะวันออกของไต้หวันด้วย

(ภาพจากแฟ้ม) เจ-16 ดี ที่เป็นเวอร์ชันเครื่องบินทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ของเครื่องบินขับไล่ เจ-16 ขณะถูกนำมาอวดโฉมในงานแอร์ไชว์ ไชน่า 2021 ที่เมืองจูไห่ ในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2021 เครื่องบินแบบนี้อยู่ในหมู่เครื่องบินทหารซึ่งจีนส่งไปรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ทั้งในวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) และวันจันทร์ (24 ม.ค.)
ข่าวการเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ของหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2 หมู่ เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ เครื่องบินทหาร 39 ลำของจีน ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่ 34 ลำ โดยเป็นแบบ เจ-16 จำนวน 24 ลำ และ เจ-10 อีก 10 ลำ เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ 4 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดเอช-6 ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์อีก 1 ลำ ได้บินรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเมื่อวันอาทิตย์ (23) ถือเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 2 ของการล่วงล้ำเช่นนี้ของปักกิ่ง โดยที่คราวนี้เครื่องบินเหล่านี้บินเข้าไปยังพื้นที่ใกล้ๆ หมู่เกาะปราตัส ซึ่งไต้หวันควบคุมอยู่ ตั้งอยู่ตรงบริเวณด้านเหนือที่จะเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ ฝ่ายไต้หวันได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปประกบเตือนอากาศยานจีนให้ล่าถอยออกไป และใช้ระบบขีปนาวุธติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาด้วย

ไต้หวันยังรายงานต่อมาในวันจันทร์ (24) ว่า มีเครื่องบินจีนอีก 13 ลำบินเข้าสู่เขตดังกล่าว โดยลำหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องบินต่อสู้เรือดำน้ำแบบวาย-8 ได้บินผ่านช่องแคบบาชิ ที่คั่นระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ตามแผนที่ซึ่งนำออกเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวัน

กระทรวงระบุอีกว่า เครื่องบินขับไล่ เจ-16ดี ของจีน 2 ลำก็เข้าร่วมภารกิจนี้ด้วย เพียงแต่บินอยู่ใกล้ชายฝั่นจีน ทั้งนี้ เวอร์ชันโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ของ เจ-16 นี้ ออกแบบมาเพื่อมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นอาวุธต่อสู้อากาศยานประเภทที่ไต้หวันจะใช้เพื่อป้องกันการถูกโจมตี

ทางด้านจีนนั้นยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ แต่จากที่ผ่านมา จีนมักอ้างว่า ภารกิจเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องอธิปไตยของตน และป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกต่อไต้หวันที่ปักกิ่งถือเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงหลายรายได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ว่า การที่จีนส่งเครื่องบินเข้าเขตป้องกันของไต้หวัน ยังน่าจะเป็นการตอบโต้กิจกรรมทางทหารของต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทหารสหรัฐฯ ในบริเวณใกล้ๆ กับเกาะไต้หวัน เพื่อเป็นการเตือนว่าปักกิ่งกำลังจับตาดูอยู่ และมีสมรรถนะในการรับมือกับเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมา

สำหรับไต้หวันบอกว่า กิจกรรมทางทหารเหล่านี้คือการทำ “สงครามในพื้นที่สีเทา” (grey zone warfare) ของจีน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองทัพไต้หวันอ่อนแรงจากการที่ต้องส่งเครื่องบินขึ้นตามประกบอยู่เนืองๆ อีกทั้งยังเป็นการหยั่งเชิงว่ากองทัพไต้หวันจะมีศักยภาพตอบโต้มากน้อยเพียงใด

จีนกดดันไต้หวันเพิ่มขึ้นมาก นับตั้งแต่ไช่ อิงเหวินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของเกาะแห่งนี้ในปี 2016 เนื่องจากไช่ประกาศว่า ไต้หวันมีอธิปไตยและไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน

ปี 2021 ที่ผ่านมา เครื่องบินรบจีนรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน 969 ครั้ง มากกว่าปี 2020 กว่าเท่าตัว โดยวันที่มีเครื่องบินรุกล้ำมากที่สุดคือ 4 ตุลาคม จำนวน 56 ลำ

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น