เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - กองทัพเกาหลีใต้ยืนยันชายที่ข้ามแดนออกไปเกาหลีเหนือเมื่อวันปีใหม่เป็นเกาหลีเหนือแปรพักตร์เชื่อไม่มีสอดแนมล้วงความลับในโซล แต่หนีกลับเพราะประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักเนื่องมาจากค่าครองชีพในเกาหลีใต้สูงเกินไปจนไม่สามารถอยู่ได้ กระทรวงรวมชาติเกาหลีร้อนตัวโดนตั้งข้อสังเกตการปฏิบัติต่อบรรดาเกาหลีเหนือแปรพักตร์ข้ามแดน
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (4 ม.ค.) ว่า เหตุการณ์ฮือฮาช่วงสุดสัปดาห์ปีใหม่ที่มีคนจากฝั่งเกาหลีใต้แอบข้ามเส้น DMZ เข้าไปในเกาหลีเหนือนั้นแท้จริงแล้วเป็นชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่ได้ลอบปีนรั้วลวดขดสนามเข้ามาในเกาหลีใต้ก่อนหน้า
โดยก่อนหน้านี้ อ้างอิงจากรอยเตอร์ที่รายงานในวันอาทิตย์ (2) พบว่า มีการตรวจพบความผิดปกติว่ามีบุคคลถูกพบอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเส้นแบ่งพรมแดน DMZ เมื่อเวลา 21.20 น.ของวันเสาร์ (1) โดยการข้ามพรมแดนจากเกาหลีใต้เข้าไปยังฝั่งเกาหลีเหนือได้รับการยืนยันจากคณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ JCS แต่ในแถลงการณ์ในเวลานั้นไม่ยืนยันว่าผู้ที่ข้ามแดนเข้าไปเป็นใครหรือยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
“เรายืนยันว่ามีคนข้ามเส้นแบ่งพรมแดนทางทหารในเวลา 22.40 น.และหนีเข้าไปยังเกาหลีเหนือ” รายงานจากแถลงการณ์
ซึ่งการข้ามพรมแดนระหว่าง 2 ชาติเกาหลีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ รอยเตอร์ชี้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าชาวเกาหลีเหนือที่แอบหลบหนีกลับเข้าไปยังกรุงเปียงยางนี้เป็นชายวัยราว 30 ปี และแอบหลบข้ามแดนเข้ามาในเกาหลีใต้มาเมื่อพฤศจิกายนปี 2020 แต่ประสบปัญหาด้านการเงินระหว่างที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ โดยชายเกาหลีเหนือแปรพักตร์ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดและถูกจัดอยู่ในชนชั้นล่างทำให้ตัดสินใจเดินทางกลับเข้าเกาหลีเหนือไป ถึงแม้การเดินทางข้ามพรมแดนกลับจะเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีอันตราย
ซึ่งการตัดสินใจของเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่ตัดใจยอมเดินทางกลับคืนสู่เกาหลีเหนือทำให้เกิดคำถามไปทั่วถึงการปฎิบัติต่อชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกนอกประเทศเข้ามาอาศัยในเกาหลีใต้ซึ่งส่วนมากถูกกีดกันทั้งในการว่าจ้าง การศึกษา และที่อยู่อาศัย
เดอะการ์เดียนรายงานว่า เปียงยางไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นทางสาธารณะต่อข่าวการเดินทางข้ามแดนกลับเข้าประเทศของพลเมืองเกาหลีเหนือรายนี้ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนราว 30 คนของพลเมืองเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่ข้ามพรมแดนกลับเข้าไปในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พบว่าเปียงยางยอมรับว่ามีการรับข้อความที่ส่งมาจากกองทัพเกาหลีใต้เกี่ยวกับการหลบหนีของเขา สำนักข่าวยอนฮับชี้
ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพเกาหลีใต้ยืนยันว่า เกาหลีเหนือแปรพักตร์นั้นทำงานอาชีพพนักงานทำความสะอาดและดูเหมือนประสบปัญหาทางการเงิน “ผมขอกล่าวว่า เขาถูกจัดเป็นคนชนชั้นล่างแทบที่จะไม่สามารถประทังชีวิตอยู่ได้”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ต่างไม่เชื่อว่าชายชาวเกาหลีเหนือรายนี้จะลอบทำการจารกรรมล้วงความลับระหว่างอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ แต่ได้เปิดการสอบสวนว่าเกาหลีเหนือแปรพักตร์สามารถข้ามขดลวดสนามที่มีความยาวตลอดพรมแดนร่วม 248 กิโลเมตรกลับเข้าไปได้อย่างไร ถึงแม้ว่าตัวเขาจะถูกพบเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
ซึ่งการรักษาความปลอดภัยบริเวณเส้นแบ่งแดน DMZ มีความเข้มงวดมาก ที่นอกจากจะมีลวดหนาม และยังมีทหารคอยตรวจการณ์ตลอดเวลา กล้องทีวีวงจรปิด และทุ่นระเบิด
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือแปรพักตร์ผู้นี้หลังจากเดินทางข้ามแดนเข้ามาในเกาหลีใต้เมื่อพฤศจิกายน ปี 2020 เขาได้ระบุตัวเองว่าเป็นอดีตนักยิมนาสติก และเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่สอบสวนเกาหลีใต้ว่า ได้ปีนลวดขดสนามข้ามแดนเข้ามาในฝั่งใต้ อ้างอิงจากแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้
ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงรวมชาติเกาหลีของเกาหลีใต้ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลกลุ่มเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่เดินทางข้ามแดนเข้ามาเปิดเผยว่า ชายชาวเกาหลีผู้นี้ได้รับความช่วยเหลือจากทางกระทรวงในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแดนโสมขาวสำหรับความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และการได้งานทำหลังเข้ามาที่เกาหลีใต้จากการเดินทางข้ามเส้น DMZ ทางเซกเตอร์ตะวันออก
ซึ่งก่อนที่ชายผู้นี้จะหนีกลับเข้ากรุงเปียงยางไปพบว่าเพื่อนบ้านแอบเห็นเขาขนข้าวของส่วนตัวออกมาทิ้งในวันก่อนหน้าการหลบหนีข้ามแดน สำนักข่าวยอนฮับรายงาน
“เขานำฟูกที่นอนและชุดผ้าปูที่นอนมาทิ้งที่จุดทิ้งขยะในเช้าวันนั้นและมันแปลกเพราะทุกอย่างยังคงดูใหม่มาก” แหล่งข่าวที่เป็นเพื่อนบ้านให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮับ และเสริมต่อว่า “ผมเกือบที่จะเอ่ยปากขอสิ่งของไว้ แต่ในท้ายที่สุดไม่ได้ทำเพราะพวกเราทั้งคู่ไม่เคยเอ่ยปากทักทายกันเลย”
ทั้งนี้ พบว่านับตั้งแต่ปลายยุค 90 มีกลุ่มเกาหลีเหนือแปรพักตร์ไม่ต่ำกว่า 33,000 คนแอบหลบหนีเข้ามาในเกาหลีใต้ โดยพบว่า 56% ของเกาหลีเหนือแปรพักตร์ถูกจัดในกลุ่มรายได้ระดับต่ำ อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงรวมชาติเกาหลี และเกือบ 25% อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำสุดที่ต้องได้รับการสนับสนุนการดำรงชีพขั้นพื้นฐานจากรัฐ สูง 6 เท่าในกลุ่มประชาชนทั่วไปในประเทศ
ซึ่งในการสำรวจที่ถูกเผยแพร่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในการจัดทำโดยศูนย์ฐานข้อมูลเพื่อสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ (Database Center For North Korean Human Rights) และกลุ่มวิจัยทางสังคมเกาหลีเหนือ (NK Social Research)ในกรุงโซล พบว่า 18% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเกาหลีเหนือแปรพักตร์ 407 คน กล่าวว่า พวกเขาต้องการเดินทางกลับเข้าไปในเกาหลีเหนือ โดยส่วนใหญ่อ้างเหตุผลไปที่ความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิดที่จากมา
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงรวมชาติเกาหลีเปิดเผยว่า มีหลายปัจจัยประกอบกันตั้งแต่คิดถึงครอบครัวที่ทิ้งไว้ในเกาหลีเหนือ ประสบปัญหาความยากลำบากทางจิตใจและเศรษฐกิจระหว่างการปรับตัวในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศใหม่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กล่าวว่า “รัฐบาลโซลจะยังคงมีความพยายามในการพัฒนาโครงการสนับสนุนของพวกเราต่อไปเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ดียิ่งขึ้นในเกาหลีใต้”