แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นจากโคมาเพราะฤทธิ์โควิดในปี 2021 แต่การมาเยือนของโอมิครอนที่ทำให้หลายสิ่งหยุดชะงักอีกครั้ง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังอ้อยอิ่งยืดเยื้อ บีบให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ แตะเบรก และแนวโน้มเศรษฐกิจไร้ความแน่นอนอีกหน
และต่อไปนี้คือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด
ฟื้นตัวเป็นหย่อม
เศรษฐกิจของหลายประเทศเติบโตอย่างน่าประทับใจหลังหลุดพ้นจากภาวะถดถอยจากโควิดในปี 2020 แต่การฟื้นตัวในแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน เช่น ประเทศรวยฟื้นตัวมั่นคงกว่าเนื่องจากเข้าถึงวัคซีนมากกว่า
อเมริกาสามารถเอาชนะภาวะขาลงเลวร้ายที่สุดนับจากการถดถอยครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 ขณะที่เศรษฐกิจประเทศในแถบยูโรโซนอาจฟื้นถึงระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปี 2021
ทว่า การระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอนบีบให้หลายประเทศต้องงัดมาตรการจำกัดเข้มงวดกลับมาใช้ใหม่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเดินทางและสันทนาการเป็นด่านแรก
ขณะเดียวกัน การเข้าถึงวัคซีนในอัตราตัวเลขหลักเดียวทำให้เศรษฐกิจของประเทศในแถบซับ-ซาฮาราเติบโตช้ากว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังระบุว่า อัตราขยายตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อาจต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนวิกฤตไวรัสไปจนถึงปี 2024
ธนาคารกลางในบราซิล รัสเซีย และเกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ยแล้วเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต
ด้านจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญความเสี่ยงมากมายหลายอย่าง ทั้งจำนวนผู้ติดโควิดที่เพิ่มขึ้น ความตึงตัวด้านพลังงาน และความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เอเวอร์แกรนด์
เงินเฟ้อพุ่ง
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยขณะนี้ราคาสินค้าตั้งแต่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบอย่างไม้ ทองแดง เหล็ก ชวนกันพุ่งโด่ง
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุในรายงานแนวโน้มสถานการณ์ปี 2022 ว่า เซอร์ไพรส์ใหญ่สุดของปีที่แล้วคือการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้า
บรรดาธนาคารกลางยืนกรานมาตลอดหลายเดือนว่า ความกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นเพียงผลลัพธ์ชั่วคราวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับคืนสู่ภาวะปกติในปี 2021 หลังจากชะงักงันเพราะวิกฤตโรคระบาดใหญ่ในปี 2020
จุดยืนดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังเร่งระงับมาตรการสนับสนุนที่ออกมาในช่วงโรคระบาด อีกทั้งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีใหม่นี้
ตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในปีที่ผ่านมา และโดยรวมได้รับความมั่นใจจากการที่แบงก์ชาติกำลังปรับโฟกัสไปควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
“คำถามคือ เราหลุดพ้นจากวิกฤตแล้วจริงหรือไม่” โรเอล บีตส์มา ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหภาคของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมตั้งคำถาม
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟยังคงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตรา 4.9% ในปี 2022
ขาดแคลนทั่วถึง
อุตสาหกรรมต่างๆ พยายามอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการที่พุ่งพรวดของผู้บริโภค ขณะที่การค้าโลกชะงักงันจากปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของเรือบรรทุกสินค้า ค่าใช้จ่ายจากการที่ท่าเรือมีเรือเข้าไปใช้หนาแน่น และการขาดแคลนแรงงาน
ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่หายากมากในขณะนี้คือ เซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่มือถือจนถึงเครื่องเล่นเกม และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์
การขาดแคลนชิปรุนแรงถึงขั้นที่ค่ายรถหลายแห่งต้องระงับการผลิตชั่วคราวในโรงงานบางแห่ง
การขาดแคลนแรงงานซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยมาตรการล็อกดาวน์ขัดขวางไม่ให้คนขับรถบรรทุก คนงานท่าเรือ และกระทั่งแคชเชียร์กลับไปทำงานได้ตามปกติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากโรคระบาดใหญ่แล้ว เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความขัดแย้งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการปกป้องโลกกลายเป็นประเด็นร้อนในซัมมิต “คอป26” ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เดือนธันวาคมที่ผ่านมา
เกือบ 200 ประเทศลงนามข้อตกลงเพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อนหลังการเจรจาดุเดือดนาน 2 สัปดาห์ แต่ไม่มีมาตรการรูปธรรมที่นักวิจัยระบุว่า จำเป็นต่อการควบคุมไม่ให้สถานการณ์อันตรายรุนแรงขึ้น
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ภาวะฝนแล้งและภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศอื่นๆ กำลังคุกคามให้ราคาสินค้าที่ปักหลักที่สถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ยิ่งแพงขึ้น
ปี 2020 ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น 40% ขณะที่ผลิตภัณฑ์นมแพงขึ้น 15% และราคาน้ำมันพืชทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่
เห็นได้ชัดว่า ทุกอย่างแพงขึ้น รวมทั้งราคาเนื้อก็แพงขึ้นเท่าตัว นาบิฮา อาบิด ชาวตูนิเซีย กล่าวยืนยัน
(ที่มา : เอเอฟพี)