อเมริกาเผย “โอมิครอน” กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ และพบผู้เสียชีวิตรายแรกจากตัวกลายพันธุ์นี้ที่เทกซัสเมื่อวันจันทร์ (20 ธ.ค.) ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำ ขณะนี้มีหลักฐานที่ต่อเนื่องสอดคล้องว่า โอมิครอนระบาดเร็วกว่าเดลตา พร้อมเตือนไม่ควรด่วนสรุปจากหลักฐานเบื้องต้นว่า โอมิครอนมีอาการน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ย้ำแนะนำให้เน้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มประชากรที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก่อน
ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ช่วง 7 วันล่าสุดตั้งแต่วันอาทิตย์ (12) จนถึงวันเสาร์ (18) 73% ของผู้ติดเชื้อใหม่ในอเมริกาติดตัวกลายพันธุ์โอมิครอน โดยในบางพื้นที่ เช่น ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ อัตราส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสูงกว่า 90% ทั้งนี้ เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนในอเมริกาเพียง 3% เท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากรัฐเทกซัสว่า พบชายวัย 50 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตจากโอมิครอนเมื่อวันจันทร์ โดยชายคนนี้ไม่ได้ฉีดวัคซีน ถือเป็นผู้เสียชีวิตคนแรกจากตัวกลายพันธุ์น่ากังวลตัวใหม่นี้ในอเมริกา
รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งในสหรัฐฯ ยังพากันยกระดับมาตรการป้องกันโควิด เช่น วอชิงตันฟื้นคำสั่งสวมหน้ากากในอาคารสาธารณะจนถึงสิ้นเดือนมกราคม และกำหนดให้ลูกจ้างรัฐต้องฉีดวัคซีน รวมถึงเข็มกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงในวันเดียวกันว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีกำหนดปราศรัยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในวันอังคาร (21) ไม่มีแผนล็อกดาวน์ประเทศ
ทำเนียบขาวยังเผยว่า ผลตรวจโควิดของไบเดนออกมาเป็นลบ หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับกลางคนหนึ่งในทำเนียบขาวที่ฉีดวัคซีนครบและฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ตรวจพบติดโควิดเมื่อเช้าวันจันทร์ โดยเจ้าหน้าที่คนนี้ทำงานอยู่ใกล้ไบเดนราว 30 นาทีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17)
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเมื่อวันเสาร์ว่า โอมิครอนสามารถแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวภายในเวลา 1.5-3 วัน ในพื้นที่ที่มีการระบาดในชุมชน ขณะที่อเมริกาเผยว่า พบการติดเชื้อที่สามารถเล็ดลอดภูมิคุ้มกันของวัคซีนเพิ่มขึ้นในหมู่ประชากร 61% ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ในจำนวนนี้รวมถึง 30% ที่ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว
เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ขณะนี้มีหลักฐานที่ต่อเนื่องสอดคล้องว่า โอมิครอนระบาดเร็วกว่าเดลตา ตอกย้ำรายงานของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โอมิครอนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าเดลตาในระดับเกิน 5 เท่าตัว และไม่มีสัญญาณว่าจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา
ส่วน ซุมนา สวามินาทาน หัวหน้านักวิจัยของ WHO เตือนว่า ไม่ควรด่วนสรุปจากหลักฐานเบื้องต้นว่า โอมิครอนมีอาการน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ และสำทับว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะเพิ่มความกดดันต่อระบบสาธารณสุข
สวามินาทาน เสริมว่า การที่โอมิครอนสามารถหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนบางส่วนได้ หมายความว่า โปรแกรมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่หลายประเทศริเริ่มแล้วนั้นควรพุ่งเป้าที่ประชากรที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)