xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเซอร์ระบุวัคซีนของตน 3 เข็มสยบ ‘โอมิครอน’ ได้ ขณะที่ WHO ประสานเสียงหมอใหญ่สหรัฐฯ ระบุตัวกลายพันธุ์นี้รุนแรงน้อยกว่าไวรัสตัวเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยเอ็นโดลวู ในเมืองอีแลนด์สบูร์น
วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบออนเทค 2 เข็ม อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” แต่ “ยังคงมีประสิทธิผล” หากฉีดเข็มที่ 3 บริษัทผู้ร่วมพัฒนาทั้ง 2 แถลงในวันพุธ (8 ธ.ค.) สอดคล้องกับผลการศึกษาเบื้องต้นขนาดเล็กๆ ที่กระทำกันในแอฟริกาใต้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากทั้ง WHO และอเมริกา พูดเป็นเสียงเดียวกัน “โอมิครอน” ดูเหมือนไม่ร้ายแรงกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อาจมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมากขึ้นและแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น

โอมิครอน ทำให้ทั่วโลกวิตกกังวลเนื่องจากมีสัญญาณว่า มันสามารถแพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้า รวมทั้งมีความกลัวเกรงกันว่าการที่มันมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ จำนวนมาก อาจช่วยให้มันสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่วัคซีนกระตุ้นขึ้นมา ถึงแม้จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวกลายพันธุ์นี้

เมื่อวันพุธ (8) ไฟเซอร์และไบออนเทคตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นของพวกตน โดยระบุว่า วัคซีนของพวกตน “ยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 รวมทั้งโอมิครอนด้วย ถ้ามีการฉีดเป็นจำนวน 3 เข็ม”

แต่บริษัททั้งสองเตือนว่า การฉีด 2 เข็ม “บางทีอาจจะไม่เพียงพอ” ที่จะสยมตัวกลายพันธุ์โอมิครอนได้

ตามรายงานผลการวิจัยในห้องแล็บเบื้องต้นของบริษัททั้งสอง โดยใช้น้ำเหลืองของเลือด (blood serum) จากผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ปรากฏว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นไปราว 1 เดือน สามารถเพิ่มแอนติบอดี้ต่อต้านโอมิครอนขึ้นมา ในระดับประมาณเดียวกันกับที่พบเห็นหลังฉีดเข็มที่ 2 มาต่อต้านตัวกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ

บริษัททั้งสองแจกแจงว่า ตัวอย่างเลือดจากคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคแล้ว 2 เข็ม มีแอนติบอดี้ลดลง 25 เท่าในการต่อต้านโอมิครอน หากเปรียบเทียบกับในการต่อต้านตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

กระนั้นก็ตาม ทั้งสองบริษัทชี้ว่า ในภูมิคุ้มกันที่มาจากอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือจาก ทีเซลล์ พบว่ายังอาจจะมีประสิทธิผลในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์โอมิครอน และกล่าวต่อไปว่า “บุคคลที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว น่าจะยังคงได้รับการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในแบบร้ายแรง”

ผลการศึกษาเหล่านี้ถือเป็นเบื้องต้น และยังไม่ผ่านการตรวจสอบทบทวนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

บริษัททั้งสองแถลงด้วยว่า วัคซีนโควิดเวอร์ชันใช้ต่อต้านโอมิครอนโดยเฉพาะ ซึ่งกำลังพัฒนาโดยไบออนเทคอยู่ในเวลานี้ จะสามารถนำออกมาใช้งานได้ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า

“ถึงแม้วัคซีน 2 เข็มอาจจะยังคงให้การป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างร้ายแรงจากตัวกลายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนจากข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ว่า การป้องกันจะกระเตื้องดีขึ้นมากด้วยเข็มที่ 3 ของวัคซีนของเรา” อัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์กล่าวในคำแถลง

ตรงกับผลการทดลองเล็กๆ ในแอฟริกาใต้

การประกาศของบริษัทยาทั้งสองนี้เกิดขึ้น 1 วันภายหลังมีการเผยแพร่การศึกษาเบื้องต้นอีกรายหนึ่งจากการทดลองขนาดเล็กๆ ของสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งแอฟริกา ในแอฟริกาใต้ ซึ่งบ่งชี้ว่า ความสามารถของแอนติบอดี้จากวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค 2 เข็ม ลดลงราวๆ 40 เท่าในการต่อสู้กับโอไมครอน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวกลายพันธุ์ เบตา

เวลาเดียวกันผลศึกษายังพบว่า ตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มและเคยติดโควิดมาก่อน สามารถทำให้โอมิครอนอ่อนกำลังลง เรื่องนี้บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

อย่างไรก็ดี ผลศึกษาเบื้องต้นนี้มาจากกลุ่มตัวอย่างเพียง 12 คนเท่านั้น รวมทั้งยังไม่ผ่านการตรวจสอบทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ

ภาพด้านข้างของรถคลินิกฉีดวัคซีนโควิด-19 เคลื่อนที่ แห่งหนึ่ง ซึ่งจอดอยู่ในย่านแมนแฮตตัน ของนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (7 ธ.ค.)  ขณะที่ข่าวคราวตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” กำลังเขย่าขวัญผู้คนทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญ WHO และหมอใหญ่สหรัฐฯ

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันอังคาร (7) ว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศแรกที่รายงานการพบโอมิครอน ไม่บ่งชี้ว่า ตัวกลายพันธุ์ล่าสุดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้มีความรุนแรงของโรคมากกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มในทางกลับกันว่า จะมีความรุนแรงน้อยกว่า แม้มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ตัวกลายพันธุ์ใหม่จะต้องวิวัฒนาการตัวเองเพื่อต่อสู้กับตตัวกลายพันธุ์ก่อนหน้า

นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏสัญญาณว่า โอมิครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีอยู่ได้ทั้งหมด กระนั้น เขายอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนที่มีอยู่อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงในการต้านทานโอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งบนโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามที่เป็นส่วนสำคัญในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์

ยังมีสิ่งบ่งชี้ว่า โอมิครอนมีความสามารถมากกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ในการแพร่เชื้อไปยังผู้ฉีดวัคซีนแล้วหรือผู้ที่เคยติดโควิดแล้ว อย่างไรก็ดี ไรอันย้ำว่า ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมต่อไป และอาวุธดีที่สุดซึ่งมีอยู่ขณะนี้ในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์คือการฉีดวัคซีน การสวมหน้ากากป้องกัน และการเว้นระยะห่างทางสังคม

ทางด้าน นายแพทย์แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า จากข้อมูลเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่ว่า โอมิครอนแม้มีแนวโน้มแพร่ระบาดสูงกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นตัวกลายพันธุ์ที่พบมากที่สุดทั่วโลกขณะนี้ แต่โอมิครอนมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์ที่พบก่อนหน้านี้ โดยพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ที่สูงมากแต่จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลดูเหมือนน้อยกว่าเดลตา

ข้อมูลทางระบาดวิทยาจากทั่วโลกยังบ่งชี้ว่า โอมิครอนมีอัตราการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าและมีแนวโน้มที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีกว่าไวรัสตัวกลายพันธุ์อื่นๆ

หมอใหญ่ของสหรัฐฯ แนะนำเช่นเดียวกับ WHO ว่า ประชาชนยังต้องระมัดระวังโดยเฉพาะระหว่างการเดินทาง ต้องสวมหน้ากากป้องกันเมื่ออยู่ในอาคารที่มีผู้คนแออัด และผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วควรฉีดกระตุ้นเมื่อถึงกำหนดเวลา

โอมิครอนถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วพร้อมกับที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง กดดันให้หลายสิบประเทศต้องฟื้นมาตรการควบคุมการเดินทาง และเพิ่มความเป็นได้ว่า อาจต้องล็อกดาวน์อีกครั้งซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วในอย่างน้อย 38 ประเทศ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มเป็นกว่า 5.2 ล้านคน

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น