ราคาน้ำมันขยับขึ้นต่อเนื่องในวันอังคาร (7 ธ.ค.) ยังได้แรงหนุนจากกรณีนักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของตัวกลายพันธุ์โอมิครอนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปัจจัยนี้ดันวอลล์สตรีทพุ่งทะยาน ส่วนทองคำก็ปิดบวกเช่นกัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 2.56 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2.36 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันดิ่งลงหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากความกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันตัวกลายพันธุ์โอมิครอน กระพือความกังวลว่ารัฐบาลชาติต่างๆ อาจกำหนดข้อจำกัดรอบใหม่เพื่อสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ทางพลังงาน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแอฟริกาใต้รายงานเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ว่า เคสผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการแค่เล็กน้อย และนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระดับสูงของสหรัฐฯ ระบุจนถึงตอนนี้ดูเหมือนตัวกลายพันธุ์นี้จะมีระดับความรุนแรงไม่มากนัก
มุมมองในแง่บวกเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โอมิครอนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สร้างความอุ่นใจแก่นักลงทุน และปัจจัยนี้เองช่วยดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกในวันอังคาร (7 ธ.ค.) พุ่งแรงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 492.40 จุด (1.40 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 35,719.43 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 95.08 จุด (2.07 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,686.75 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 461.76 จุด (3.03 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 15,686.92 จุด
นักลงทุนขานรับกับสัญญาณต่างๆ ในเบื้องต้น ที่พบว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ดูเหมือนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ แม้ว่ามันจะแพร่ระบาดได้ง่ายมากก็ตาม
"ไม่ผิดหรอกที่จะพูดว่า ตลาดค้นพบเหตุผลในข่าวพาดหัวต่างๆ จนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ขณะเดียวกัน ความกังวลว่าเฟดจะเปลี่ยนแปลงทางนโยบายก็ยังคงลดลง" แพทริค โอแฮร์ นักวิเคราะห์จาก said Briefing.com อ้างถึงแก่นนโยบายทางการเงินเร็วๆ นี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ด้านราคาทองคำในวันอังคาร (7 ธ.ค.) ปิดสูงสุดในรอบสัปดาห์ ฟื้นตัวจากที่ปรับลดก่อนหน้านี้ ยังจับตาไปที่ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,784.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)