เอพี - เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินโดนีเซียเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตบริเวณเนินภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนเกาะชวาในวันอาทิตย์ (5 ธ.ค.) หลังจากภูเขาไฟลูกดังกล่าวปะทุ และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน ขณะที่เศษซากจากภูเขาไฟที่ร้อนระอุและโคลนหนาเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อปฏิบัติการกู้ภัย
ภูเขาไฟเซเมรู ในเขตลูมาจัง ในจังหวัดชวาตะวันออกพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง 12,000 เมตร และปล่อยก๊าซและลาวาไหลลงสู่เนินเขาหลังจากปะทุกะทันหันเมื่อวันเสาร์ (4 ธ.ค.) เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้หมู่บ้านและเมืองในบริเวณนั้นถูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่าน กระท่อมหลายหลังถูกฝังอยู่ใต้โคลนหนักหลายตันที่เกิดจากเศษซากจากภูเขาไฟ
เจ้าหน้าที่เตือนให้ประชาชนนับพันคนที่หนีการปะทุของภูเขาไฟอย่ากลับไประหว่างที่ภูเขาไฟสงบลงเมื่อวันอาทิตย์ ทว่าชาวบ้านบางคนฝ่าฝืนและกลับไปดูปศุสัตว์และทรัพย์สิน
ลาวาและเศษซากผสมกับฝนที่ตกลงมากลายเป็นโคลนหนาที่ทำให้สะพานหลักที่เชื่อมต่อลูมาจัง กับเขตมาลัง และสะพานขนาดเล็กชำรุดเสียหาย
นอกจากนั้น แม้การปะทุช่วยลดแรงดันที่เกิดขึ้นใต้โดมภูเขาไฟบริเวณปล่องภูเขาไฟ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โดมยังอาจยุบลงมาซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซที่ทำให้เนื้อเยื่อร่างกายเผาไหม้และพุพองได้ รวมทั้งทำให้เกิดเศษซากถล่มทับบริเวณดังกล่าว
เอโก บูดี เลโลโน หัวหน้าศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยา อธิบายว่า พายุและฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันซึ่งบ่อนเซาะและทำให้โดมบนยอดภูเขาไฟเซมารูที่มีความสูง 3,676 เมตรยุบลงมาบางส่วนเป็นต้นเหตุทำให้ภูเขาไฟปะทุ
เลโลโน สำทับว่า ก๊าซที่ทำให้เกิดการเผาไหม้และลาวาไหลไปในไกล 800 เมตรถึงแม่น้ำในบริเวณใกล้เคียงอย่างน้อย 2 ครั้งเมื่อวันเสาร์ และประชาชนได้รับคำแนะนำให้อยู่ห่างจากปากปล่องภูเขาไฟ 5 กิโลเมตร
รายงานข่าวทางทีวีเผยให้เห็นผู้คนกรีดร้องและวิ่งหนีภายใต้ควันเถ้าถ่านที่ปกคลุมไปทั่ว หน้าตาเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำฝนผสมฝุ่นจากภูเขาไฟ
หลังจากมีการปะทุเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันพุธ (1 ธ.ค.) สถานการณ์แจ้งเตือนเกี่ยวกับภูเขาไฟเซเมรูโดยศูนย์ภูเขาไฟวิทยาและบรรเทาภัยพิบัติทางธรณีวิทยายังคงอยู่ระดับสูงสุดอันดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับนับตั้งแต่การปะทุเมื่อปีที่แล้ว
เซมารู หรือมหาเมรุ ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ภูเขาอันยิ่งใหญ่ ปะทุมาแล้วหลายครั้งในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และเป็นภูเขาไฟ 1 ใน 129 ลูกที่ต้องจับตาในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่ที่สุดของโลก ครั้งล่าสุดที่เซมารูปะทุคือเดือนมกราคมโดยไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
อินโดนีเซียตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุมากขึ้น ปัจจุบัน ประชากรราว 54% ของเกือบ 270 ล้านคนทั่วประเทศ อาศัยอยู่บนเกาะชวาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในแดนอิเหนา
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่แสดงความหวังว่าจะสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ด้วยการจับตาภูเขาไฟอย่างใกล้ชิด แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1 คนเมื่อคืนวันเสาร์ เป็น 13 คนในเช้าวันอาทิตย์
อับดุล มูฮารี โฆษกสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เผยว่า มีประชาชน 57 คนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จากแผลไหม้ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และอาการบาดเจ็บอื่นๆ และเสริมว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเร่งค้นหาชาวบ้าน 7 คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีการรายงานว่าสูญหาย
ประชาชนกว่า 900 คนพากันหนีไปยังศูนย์พักพิงฉุกเฉินหลังจากภูเขาไฟปะทุรุนแรงเมื่อวันเสาร์ แต่ยังมีหลายคนที่ฝ่าฝืนคำเตือนของทางการและเลือกหลบอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลปศุสัตว์และทรัพย์สิน
ฮาร์ยาดี เปอร์โนโม จากสำนักงานค้นหาและกู้ภัยชวาตะวันออก เผยว่า ทีมของตนกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้ประสบภัยบริเวณเนินเขาทางใต้ แต่โคลนหนา เศษซากร้อนระอุ และฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เป็นอุปสรรคต่อการค้นหา และสำทับว่า หมู่บ้านหลายแห่งที่เคยอุดมสมบูรณ์ขณะนี้กลายเป็น “พื้นที่อันตราย” ที่ไม่หลงเหลือสิ่งมีชีวิต ทุกอย่างถูกปกคลุมด้วยเถ้าถ่าน
ด้านเปอร์โนโม เสริมว่า การค้นหาและกู้ภัยต้องหยุดลงชั่วคราวในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ท่ามกลางความกังวลว่า อาจมีเศษซากและเถ้าถ่านร้อนระอุร่วงหล่นลงมาจากปล่องภูเขาไฟเนื่องจากฝนตกหนัก
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณภัยและทหารประสานงานเพื่อรับมือภัยพิบัตินี้